วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

>> มาซาฮิโร โฮรีเอะ วีรบุรุษของการปฏิรูปราชการตัวจริง


โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ : มาซาฮิโร โฮรีเอะ วีรบุรุษของการปฏิรูปราชการตัวจริง
กระแสทรรศน์ มติชน 14 พ.ย.2555

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ผู้เขียนได้ร่วมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น กับนิสิตปริญญาโทของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมีโอกาสดีที่ได้รับฟังการบรรยายของศาสตราจารย์มาซาฮิโร โฮรีเอะ รองประธานสถาบันบัณฑิตศึกษา สำหรับนโยบายสาธารณะแห่งชาติ (National Graduate Institute for policy Studies) ของประเทศญี่ปุ่น

ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไปในนามว่า GRIPS อย่างสมใจหลังจากที่พลาดโอกาสไปฟังคำบรรยายของท่าน เมื่อคราวที่ท่านมาประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายนปีนี้เอง

ผู้เขียนได้ทราบถึงกิตติศัพท์ของศาสตราจารย์มาซาฮิโร โฮรีเอะ มาร่วมสิบปีแล้วจากหนังสือพิมพ์และวารสารต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาและตัวอย่างผลงาน วิธีคิดของฮาจารย์โฮรีเอะในขณะที่ท่านยังรับราชการอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ของหน่วยราชการของประเทศญี่ปุ่น

จนได้เป็นปลัดกระทรวงการประสานงานนโยบายแห่งชาติ แล้วจึงโอนย้ายตัวเองมาเป็นอาจารย์และรองประธานของ GRIPS ในปัจจุบันเพื่อนำเอาความรู้และประสบการณ์จริง ในทางรัฐประศาสนศาสตร์มาถ่ายทอดให้กับอนุชนรุ่นหลังต่อไป

มาซาฮิโร โฮรีเอะ เรียนรัฐศาสตร์สาขาการปกครอง (Government) จากมหาวิทยาลัยโตเกียวแล้วเข้ารับราชการในกรมการจัดการภาครัฐของสำนักนายกรัฐมนตรีจึงได้ทุนไปศึกษาต่อปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยซีราคิวส์และอบรมฝึกงานในภาควิชาบริหารศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเยลอีก 1 ปี

เสร็จแล้วก็กลับไปรับราชการต่อจนไต่เต้าขึ้นเป็นปลัดกระทรวง จากผลงานที่มาซาฮิโร โฮรีเอะ ใช้หน่วยงานของเขาที่มีกำลังคนถึง 1,220 คนทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจราชการแผ่นดิน (ombudsman) เข้าตรวจโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่บรรดา ส.ส.และ ส.ว.

ซึ่งก็เหมือนเมืองไทยแหละครับ ที่มีโครงการก่อสร้างใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปสร้างถนนควายเดิน, สนามบินในป่า, สนามกีฬากลางของจังหวัดเอาไว้เลี้ยงวัว, การสร้างโรงแรมหรือรีสอร์ตไว้ส่งเสริมการท่องเที่ยวของผู้แทนและหมู่พวก

และที่สำคัญที่สุดคือประมูลโครงการของงบประมาณของการทหารที่จัดว่ามีการคอร์รัปชั่นมากที่สุดเนื่องจากมีการฮั้วกันอย่างโจ๋งครึ่มจนถูกมาซาฮิโรกับลูกน้องทำรายงานความบกพร่องเป็นที่ฉาวโฉ่ ทำให้ทางกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นต้องร่างแบบฟอร์มการประมูลใหม่เป็นพันๆ รายการ

และเปิดให้มีการประมูลอย่างโปร่งใส พร้อมทั้งยังต้องจัดการตีพิมพ์ผลการประมูลโครงการต่างๆ ของทางการทหารสู่สาธารณชนอีกด้วย

จากผลงานของการเอาวิชาการมาปฏิบัติจนได้รับการยอมรับทั้งในญี่ปุ่นและในนานาประเทศมาซาฮิโร โฮรีเอะ จึงได้ชื่อเสียงว่าเป็นบุคคลสำคัญที่ทำการลดทอนหนี้สาธารณะของประเทศญี่ปุ่นที่มีกว่า 5.6 ล้านล้านเหรียญอเมริกัน (ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง)

ศาสตราจารย์โฮรีเอะเปิดคำบรรยายด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าบรรดานักการทูตมืออาชีพของอังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้นส่วนใหญ่จะเรียนมาทางประวัติศาสตร์ (History) ซึ่งท่านเองก็แปลกใจและสงสัยมาตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งเข้ามาเรียนรัฐศาสตร์แล้วจึงจะเข้าใจว่าประวัติศาสตร์คือการศึกษาอดีตอย่างมีระบบ

อาทิ เมื่อเช้านี้ก็เป็นอดีตไปแล้วและอดีตนั้นครอบคลุมทุกอย่างในโลกอยู่แล้ว ศาสตราจารย์โฮรีเอะยืนยันว่ารัฐประศาสนศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของรัฐศาสตร์และมีลักษณะของวิชารัฐศาสตร์อย่างชัดแจ้งคือการเป็นสหวิชาการ (Interdisciplinary)

คือไปขอยืมแนวคิดและวิธีการของสาขาวิชาต่างๆ ตามความเหมาะสม ในกรณีของศาสตราจารย์โฮริเอะท่านได้นำเอาวิธีคิดและวิธีการของวิชาเศรษฐศาสตร์, ธุรกิจและสถิติเข้าประยุกต์กับรัฐประศาสนศาสตร์มาประเมินความคุ้มค่าของโครงการต่างๆ ของรัฐบาลโดยศาสตราจารย์โฮริเอะกล่าวว่า

"คนญี่ปุ่นชอบที่กำหนดเป้าหมายและทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำเพื่อที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายแต่ไม่ค่อยประเมินราคาของงานชิ้นนั้นๆ เลยว่าคุ้มหรือไม่ !"

มาซาฮิโร โฮรีเอะ ได้พัฒนาฐานข้อมูล (databases) ซึ่งป็นกลุ่มของข้อมูลที่มีการจัดการเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึง จัดการและปรับปรุงได้ง่าย ของการใช้จ่ายและการประมาณการของการใช้จ่ายก่อสร้าง ของโครงการของรัฐให้กับประชาชนญี่ปุ่น เข้าถึงได้ง่ายโดยผ่านทางอินเตอร์เน็ต

อันทำให้ประชาชนสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบ ของนักการเมืองและพนักงานของรัฐ โดยมีข้อมูลที่อ้างอิงได้ชัดแจ้งว่าโครงการของรัฐโดยเฉพาะโครงการการก่อสร้างนั้น ได้มีการกำหนดราคากลางไว้เกินราคาที่เหมาะสมไปเท่าไร อันส่อให้เห็นถึงการคอร์รัปชั่นที่ไม่อาจปฏิเสธและดิ้นไม่หลุดได้ ของนักการเมืองและพนักงานของรัฐ

โฮรีเอะชอบอ้างถึงแนวคิด Reinventing Government ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังในสมัยประธานาธิบดีคลินตันซึ่งการ Reinventing Government ก็คือปรัชญาและแนวคิดในการเปลี่ยนโฉมภาคราชการคือรัฐบาลนั่นแหละ ซึ่งพอสังเขปได้ดังนี้

1.ต้องการให้ระบบราชการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงมากกว่าลงมือทำงานเอง

2.ต้องการให้ระบบราชการเป็นระบบที่ชุมชนเป็นเจ้าของ และเป็นระบบราชการที่มอบอำนาจให้กับประชาชนไปดำเนินการเองมากกว่าที่จะเป็นกลไกที่คอยให้บริการแต่อย่างเดียว

3.ต้องการให้ระบบราชการมีลักษณะของการแข่งขันการให้บริการสาธารณะ

4.ต้องการให้ระบบราชการเป็นระบบที่ขับเคลื่อนด้วยภารกิจมากกว่าขับเคลื่อนด้วยกฎระเบียบ

5.ต้องการให้ระบบราชการเป็นระบบที่ให้ความสำคัญต่อผลของการปฏิบัติงานมากว่าสนใจถึงปัจจัยนำเข้าทางการบริหารงานและขั้นตอนการทำงานทั้งหลาย

6.ต้องการให้ระบบราชการเป็นระบบที่มุ่งสนองตอบต่อการเรียกร้องของลูกค้ามากกว่าที่จะสนองตอบต่อความต้องการของตัวระบบราชการและข้าราชการเอง

7.ต้องการให้ระบบราชการดำเนินงานในลักษณะที่เป็นแบบรัฐวิสาหกิจมุ่งการแสวงหารายได้มากกว่าการใช้จ่าย

8.ต้องการให้ระบบราชการเป็นระบบที่มีการเฝ้าระวังล่วงหน้า คือ ให้มีการเตรียมป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดในอนาคตมากกว่าที่จะคอยให้ปัญหาเกิดขึ้นแล้วค่อยตามแก้

9.ต้องการให้ระบบราชการเป็นระบบที่มีการกระจายอำนาจจากข้างบนลงไปสู่ข้างล่าง ตามลำดับชั้น โดยเน้นให้ข้าราชการระดับปฏิบัติงานหลักมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการทำงานเป็นทีม

10.ต้องการให้ระบบราชการเป็นระบบที่ปรับเปลี่ยนไปตามกลไกของตลาด

โฮรีเอะกล่าวว่า "การตัดสินใจทางการเมืองส่วนใหญ่จะอยู่ที่งบประมาณนี่แหละแต่เราก็ควรต้องมีการใช้ความสมเหตุสมผลใส่ลงไปด้วยไม่ใช่ปล่อยให้นักการเมืองและข้าราชการประจำใช้แต่เรื่องการเมืองมาตัดสินแต่เพียงอย่างเดียว"

ซึ่งโฮรีเอะได้จัดระบบให้ประชาชนสามารถส่งข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นมาทางอีเมล์ มาสู่หน่วยงานของรัฐและรัฐบาลได้โดยตรงซึ่งก็มีการรายงานมาจากประชาชนเป็นจำนวนมากและไม่ขาดสายตั้งแต่ตอนที่โฮรีเอะก่อตั้งศูนย์ประสานงานนี้ขึ้นมาใหม่ๆ จนถึงปัจจุบัน

ศาสตราจารย์มาซาฮิโร โฮรีเอะ ได้สรุปตอนท้ายการบรรยายว่าด้วยการตอบคำถามผู้เขียนว่า ผู้ที่ศึกษารัฐศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่ในกรงขังของสาขาวิชาย่อยของตนเอง อาทิ การปกครอง รัฐประศาสนศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การบริหารงานยุติธรรม ฯลฯ 

ควรต้องเปิดใจกว้างตามธรรมชาติของวิชารัฐศาสตร์ โดยอ้างตัวท่านเองเป็นตัวอย่าง ว่าท่านเรียนมาทางการปกครอง (Government) แต่ก็ได้ผันตัวเองมาทำงานทางการบริหารรัฐกิจ (Public Administration) และยืมวิธีการทางเศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์และสถิติมาใช้ในการวางแผนทำงานของท่าน ซึ่งถือเป็นสหวิทยาการ (inter disciplinary) อย่างแท้จริง

ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
กระแสทรรศน์