วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

>> จุดประกายขายฝันอนาคตประเทศไทย กับ “พันศักดิ์ วิญญรัตน์”

โดยส่วนตัวแล้วติดตามความคิดของคนที่น่าสนใจมานานแล้ว ด้วยความจำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ไม่งั้นคิดอะไรไม่ออกนอกจากกรอกคำตอบในช่องว่างในแบบที่กำหนด แล้วส่งๆ ผ่านไปเป็นงานๆ

เมื่อได้เรียนรู้ความคิดคนแล้ว เก็บไว้กับตัว ก็เท่านั้น ใจก็อยากเล่าสู่กันฟัง ไม่ได้หมายความทุกอย่างที่คนเหล่านี้คิดคือความถูกต้องสูงสุด ไม่มีครับความถูกต้องสูงสุด อย่างน้อยก็สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (แต่ในสังคมนี้คนที่คิดว่าความคิดข้าคือความถูกต้องแท้จริงมีมากเหลือเกิน) เหตุผลที่นำเสนอก็เพื่อการเรียนรู้ แล้วนำไปคิดต่อ.....เท่านั้น.....ตอนนี้เป็นตอนแรกที่ขอนำเสนอ หากเพื่อพ้องน้องพี่สนใจกัน ยังมีเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากกว่านี้...! (เพราะคิดไปเรื่อยแบบนี้เลยไม่มีใครเอาด้วย...)

หลายคนที่ติดตามความคิด หนึ่่งในนั้นคือ  “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” อดีตประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 2 สมัย คือ รัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ และ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีคนไหน....นายกรัฐมนตรีคนนั้นต้องโดนปฏิวัติ !  (โดยทหารไทยขาประจำไทยแลนด์) เพียงเท่านี้ก็ควรค่าแก่การติดตามความคิดไม่ใช่หรือ ? ก็ต้อง อ่าน กันมากหน่อยนะครับ
Pansak
“พันศักดิ์ วิญญรัตน์” พ่อของเขาเคยเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ พันศักดิ์จบการศึกษาด้านกฎหมายจากอังกฤษ เคยทำงานอยู่ในสหรัฐนับสิบปี หลังกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ พันศักดิ์เคยเริ่มทำหนังสือพิมพ์ “จตุรัสรายสัปดาห์” และภายหลังเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Asia Times (ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว) นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้ง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) http://www.tcdc.or.th/?lang=th องค์การมหาชนที่ดูแลด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าไทย (เว็บนี้ต้องแนะนำให้ลูกสาวเข้าไปติดตาม แล้วมานั่งคุยกัน คิดไง ว่าไง....ขอบคุณสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย)
***************************************
ที่มาขาประจำ :
Logo

มีคนที่หวังดีกับประเทศจำนวนไม่น้อย เสนอแนวคิดและวิธีการหลากหลายในการแก้ไขปัญหาประเทศไทย เพื่อให้ก้าวพ้นกับดัก และอุปสรรคที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆไปได้ ตั้งแต่ข้อเสนอให้ “ยกเครื่องประเทศไทย” ของ ดร.สุวิทย์ เมษิณทรีย์ นักวิชาการที่รับผิดชอบการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรโลกจากสถาบันศศินทร์

กระทั่ง ถึงข้อเสนอของ ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตผู้แทนการค้าไทย ที่ให้ “จัดระเบียบประเทศไทยในปี 2555 ใหม่” หลังจากที่ต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ร้ายๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ จนถึงวิกฤตการณ์ล่าสุด “มหาอุทกภัยในปี 2554” ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ประเทศต้องสูญเสียความมั่งคั่งไปเป็นมูลค่ามหาศาล ขณะเดียวกัน ความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้ประเทศเดินถอยหลังกลับไปอีกหลายปี

แต่ก็อีกนั่นแหละที่หลายครั้ง ข้อเสนอ และแนวคิดดีๆเหล่านี้ ไม่ได้รับการตอบสนอง หรือถูกนำมาเป็นมาตรการในการแก้ปัญหาประเทศอย่างที่ควรจะเป็น และนี่เป็นอีกข้อเสนอของ ดร.พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ และ ต่างประเทศ หนึ่งใน คณะกรรมการยุทธศาสตร์การฟื้นฟู และสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)ที่ ทีมเศรษฐกิจ นำมาถ่ายทอด

ที่ผ่านมาแนวคิดของ ดร.พันศักดิ์ ในฐานะประธานที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร อาจออกนอกกรอบความรู้ความเข้าใจปกติในหมู่คนไทยทั่วไป
แต่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) พิพิธภัณฑ์ และอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) รวมถึงงานสร้างสรรค์จากโครงการ “1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์” ที่เขาเป็นผู้จุดประกายภายใต้แนวคิดของงานสร้างนวัตกรรมการผลิต และออกแบบสินค้าที่เรียกว่า Value Creation นั้น ประสบความสำเร็จสูงจนสิงคโปร์ลอกเลียนแบบไปใช้
มาครั้งนี้ เขาเสนอแนวคิดนอกกรอบอีกครั้ง เพื่อให้ประเทศ และคนไทยที่กำลังหวั่นวิตกกับอนาคต ตั้งสติให้ดี แล้วหันกลับมามองดูตัวเองอย่างแตกฉานเพื่อหาจุดแข็งของประเทศเป็นหลักในการ สร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิมในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ผ่านวิกฤติน้ำท่วมไปให้ได้ แต่เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศแข็งแกร่ง การเมืองดี ประชาชนมีรายได้เพียงพอจะหาความสุขตามสมควร ขณะเดียวกันก็ต้องก้าวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมใหม่ๆของโลก
เปลี่ยนกรอบความคิดเศรษฐกิจแบบเดิม

การเริ่มต้นบทสนทนา เขาขอให้ทุกคนเปลี่ยนวิธีการคิดกันใหม่ ด้วยถ้อยคำที่ว่า“ความคิดเรื่องเศรษฐกิจวันนี้ จะยังอยู่ในกรอบของความคิดและการจำกัดความแบบเก่าๆไม่ได้" ตัวอย่างเช่น การกังวลถึงโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทยที่อยู่ใน “กับดักของรายได้ระดับกลาง” ซึ่งเมื่อก่อนอาจพูดได้ว่า “น่าเป็นห่วงมาก” ถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่ได้เปลี่ยนแปลง

แต่ปัจจุบัน “การมีรายได้ระดับกลางดีกว่าระดับรายได้สูง” แต่มีข้อแม้ว่าการอยู่ระดับกลาง ว่าจะต้อง “มีการจ้างงานและรายได้ที่คนอยู่ได้อย่างมีความสุขพอประมาณ” และ “มีการดูแลโดยรัฐที่สามารถปรับการดูแลตามความเป็นจริงของรายได้รัฐ”

เขา บอกว่าสองข้อแม้นี้ มีให้กับประเทศพวกรายได้ระดับสูงด้วย เพราะปัญหาในปัจจุบันนี้ คือ ปัญหา High Income Trap คือ รายได้ของประชาชน สวัสดิการของประชาชนเคยสูง แต่รายได้ของประเทศหยุดชะงัก ไม่ขยายตัว หรือมีหนี้สาธารณะสูงกว่ารายได้ ที่จะมาทำให้ “รายได้ของประชาชนที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะรายได้ทางการดูแลสวัสดิการของรัฐที่เคยอยู่ในระดับสูงมีปัญหา”

ประเทศ ในยุโรปตะวันตก และสหรัฐฯ กำลังอยู่ในประเทศกลุ่มรายได้สูง (High Income) แบบที่มีปัญหาให้กับโลกมาก เหตุผลเพราะว่าการพัฒนารายได้ระดับสูงนั้น มาจากการพัฒนาของคนกลุ่มน้อยที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี และคนกลุ่มนี้ยังเกิดจากสังคมที่พัฒนาทางอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใหญ่มานานหรือ แก่แล้ว ท่ีสำคัญคนกลุ่มนี้กำลังมีจำนวนลดลง กลายเป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อยในประเทศกลุ่มหนึ่งที่มีความสามารถ และเป็นบุคคลที่มีรายได้สูงจากการจ้างงานในประเทศน้อย
เลือกรายได้ปานกลางแบบมีสุข

ฉะนั้น เวลาคนถามว่าโลกมีปัญหาเศรษฐกิจ? “ใครบอก” โลกไม่ได้มีปัญหาเศรษฐกิจ แต่โลกมีปัญหา 2 อย่าง คือ 
1.เล่นเงินซะจนฉิบหาย 
2.โลกมีอาการปัญญาต่ำ คิดไม่ออก เพราะมัวแต่ไปคิดเรื่อง Middle Income Tax หรือการจัดเก็บภาษีรายได้ของคนชั้นกลาง
“ปัญญาตกต่ำคิดไม่ออกระหว่าง ความร่ำรวย การมีสินทรัพย์มาก แต่ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับการจ้างงานและสร้างงานในสังคม หรือทำให้คนส่วนใหญ่มีรายได้ที่แท้จริงเพิ่มจากการทำมาหากิน ที่ไม่ได้มาจากการเล่นตลาดหุ้น หรือเล่นกระดาษได้”

เขาย้ำว่า โลกมีอาการปัญญาตกต่ำ ในกลุ่มที่จะต้องใช้ความคิดระหว่างการสร้างรายได้กับการจ้างงาน และการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน สิ่งนี้ทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ถ้าคุณไม่คิด และคุณไม่มีทางที่จะตอบสนองความเคยชินของสังคมที่หวังสวัสดิการที่สูงขึ้น โดยที่ไม่มีคนจ่ายภาษีให้คุณ เพราะคนจ่ายภาษีรวยขึ้น แต่จำนวนคนจ่ายน้อยลง

“คน อเมริกัน 120 ล้านคนจ่ายภาษี ในอัตราที่ต่ำกว่านายสตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งค่ายแอปเปิ้ล ที่เพิ่งวายชนม์ ตั้งเยอะ แต่รวมแล้วเม็ดเงินที่คนอเมริกันเหล่านั้นจ่ายภาษีมากกว่าที่นายสตีฟ จ็อบส์จ่ายไม่รู้กี่พันเท่า”

เพราะฉะนั้น นโยบายพรรคการเมืองบางพรรคในประเทศไทย ซึ่งไม่ต้องเอ่ยชื่อในที่นี้ เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา จึงมีนโยบายที่สำคัญ คือ Empower ให้พลัง สร้างความสามารถ ประสิทธิภาพแก่มวลชนที่เสียภาษี

“ฉะนั้น อย่าพูดอะไรโอเว่อร์ เพราะ Middle Income นั้นอยู่ที่ว่าสิ่งแวดล้อมของความเป็นจริงอยู่ที่อะไร เราควรจะอยู่ในกลุ่มคนมีรายได้ปานกลางอย่างมีความสุข เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่อนิจจัง ไม่อยู่กับที่ มันเคลื่อนไปเรื่อยๆ เหมือนประเทศไทย 23-25 ปีที่ผ่านมา รายได้ของคนจนที่สุดของประเทศไทยพุ่งสูงขึ้น 220% และประเทศที่มีรายได้คนจนที่สุดต่ำกว่าไทยก็เคลื่อนขึ้นมาเช่นกัน” แต่ประเด็นปัญหา คือ กลุ่มคนมีรายได้สูงของประเทศร่ำรวยกลับหยุด เพราะมันแก่แล้ว มันคิดไม่ออกว่าจะจ้างงานในประเทศตัวเองอย่างไร
แนะคนไทยเป็น “กาฝากที่มีคุณภาพ”

เขาบอกต่อไปว่า จากทุกอย่างที่เล่าให้ฟัง เมืองไทยในสถานการณ์โลกอย่างนี้ “เราจะอยู่อย่างไร?” วิธีการคือ
อย่ากระแดะ (เพียบเลยไทยแลนด์)
อย่าสำคัญตัวผิด (เพียบเลยไทยแลนด์)
และถ้าเกาะความต้องการ (Demand) ของใคร หรือทำตัวเป็น “กาฝาก” ก็ต้องเลือก 
เพราะ “กาฝาก” มี 2 ชนิด คือ 
แบบจีน วันๆ ไม่ต้องคิดอะไร ดูคนอื่นอีกที ดูเขาเฉยๆ 
แต่กาฝากอีกแบบขอเกาะเขาเฉยๆ และดูเพื่อสร้างตัวเอง มีพลังงานของตัวเอง

อย่างไร ก็ตาม ในเศรษฐกิจโลกไม่มีใครที่จะยอมให้คุณเป็นกาฝากเฉยๆ ก็ต้องดูดอะไรจากคุณด้วย โดยเฉพาะเศรษฐกิจศตวรรษที่ 21 ซึ่งจีนคือมหาอำนาจในการผลิต แต่ยังไม่ใช่มหาอำนาจในการสร้างคุณค่า มีกระบวนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิตและออกแบบสินค้า หรือ Value Creation
มหาอำนาจในการสร้างคุณค่ายังอยู่ในโลกตะวันตก ส่วนในเอเชียมีมหาอำนาจที่สร้าง Value Creation คือ ญี่ปุ่น หรืออาจมีบางประเทศบ้างที่ทำได้เล็กๆ น้อยๆ เหตุผลที่ทำให้เราโง่ ขี้เกียจ สันหลังยาว คือ พวกที่ประดิษฐ์เครื่องจักรและทำให้ง่ายขึ้นๆ มาขายให้เรา ให้เราเป็นผู้รับจ้างผลิต ส่งงานเข้าเครื่อง จ้างลูกจ้างต่ำกว่า 300 บาท

ซึ่ง ชีวิตแบบนี้ “เราจะอยู่ต่อไปไม่ได้ เราต้องทำ Value Creation ไม่ใช่ Value Added หรือการสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่อย่ากระแดะ อย่าโอเว่อร์ ต้องรู้จักตัวเองให้มีส่วนต่างเพิ่มขึ้น โดยที่รู้ว่าดีมานด์กับสิ่งที่ตัวเองพอจะทำได้คืออะไร และเกาะดีมานด์ที่มีศักยภาพ เช่น โรงสีของซีพีเอาเทคโนโลยีใช้เลเซอร์ยิงเพื่อเลือกข้าวคุณภาพดีทีละเมล็ด”

คนญี่ปุ่นถือเป็นชาติที่รู้จักทักษะของคนไทยดีที่สุด 60 ปี ที่คนญี่ปุ่นลงทุนในเมืองไทย รู้ว่าเอาคนไทยไปทำอะไรได้บ้าง ซึ่งมี 2 ทางคือ การให้บริการในส่วนที่คนไทยมีทักษะ ซึ่งใช้การบริหารเพียงนิดเดียว ทักษะนั้นก็เพิ่มขึ้นและรู้ด้วยว่าจะเกาะดีมานด์อะไร ได้แก่ ร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วโลก เป็นการคิดแบบ “Think Local Act Global” คือ เอาสินทรัพย์ที่เป็นทักษะท้องถิ่นขยายไปทั่วโลก

“ประเทศไทยมาคิด ทำครัวโลก ญี่ปุ่นคิดทำครัวโลกมาตั้งนานแล้ว เอาคนอีสานที่ทำปลาสดเก่งไปฝึกตัดปลาซูชิ ส่งไปอยู่สถานทูตและร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วโลก เท่ากับประเทศไทยเป็นครัวโลกมาตั้งนานแล้ว โดยคนญี่ปุ่น”
ทักษะของคน ไทยอีกอย่างที่ญี่ปุ่นเห็นคือ คนไทยรู้จักวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็วและมีวิธีการแก้ไขปัญหา ที่แปลกๆ ญี่ปุ่นจึงลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ในเมืองไทยยิ่งใหญ่มาก เพราะเห็นทักษะของคนไทยที่เก่งจึงมาลงทุนพร้อมกับมาฝึกทักษะเพิ่มให้ด้วย ฉะนั้น เราไม่สามารถปฏิเสธประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของไทยและอุตสาหกรรมรถยนต์กับ ญี่ปุ่นได้ และอุตสาหกรรมนี้ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพราะชาติเอเชียมีรายได้มากขึ้น

“ญี่ปุ่น ก็จะเอาไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต ทั้งๆที่น้ำท่วม แต่บริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ไม่หนีออกจากเมืองไทย ด้วยเหตุผลเพราะทักษะของคนงานไทยมีคุณค่ามากสำหรับญี่ปุ่น”

เหล่านี้ ต้องให้ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมทั้งหลาย ไปนั่งคิดดูและจัดการให้สำเร็จ ว่า การผลิตในระยะ 15-20 ปีข้างหน้า มีงานในส่วนใดบ้างที่จะต้องทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องจักรและทักษะของคนงาน ไทย

มีงานในส่วนใดที่หนีจากการใช้ทักษะของคนงานไทยไม่ได้ บวกด้วยการเป็น “กาฝากที่มีคุณภาพ” ฉะนั้น กาฝากแบบไทยที่พึ่งต้นไม้อยู่นั้น ต้นไม้ก็คือ “อุตสาหกรรมญี่ปุ่นในเมืองไทย”
สร้างโลจิสติกส์ใหม่เปลี่ยนวิถีชีวิตคน

อีก ส่วนหนึ่งของอนาคตเศรษฐกิจไทย เขาบอกว่า ความต้องการของจีน ยุโรป และสหรัฐฯ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกก็ยังมีอยู่ ขณะที่รายได้ต่อหัวของยุโรปและสหรัฐฯก็ยังสูงกว่าคนไทย และคนที่มีรายได้ต่อหัวสูงตลอดจนคนชั้นต่ำและชั้นกลางของเขาก็คือ “ผู้ต้องการสินค้าและบริการของไทยที่มีศักยภาพ”
ขณะเดียวกัน แม้ว่ารายได้ของคนยุโรปจะลดลง และรายได้ต่อหัวของคนจีนรุ่นใหม่จะเพิ่มขึ้น แต่รายได้ต่อหัวของคนยุโรปก็ยังสูงกว่าคนจีน ดังนั้น จีนไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะไม่หิ้วยุโรปและสหรัฐฯ

แต่ที่คิดไม่ออกใน เชิงยุทธศาสตร์อย่างลึกซึ้งคือ ถ้าจะปล่อยให้ยุโรปและสหรัฐฯเจ๊ง ทำไมต้องหิ้วในส่วนของคนไทยก็ต้องจัดการตัวเองว่า จะผลิตสินค้าและบริการใดที่ป้อนให้กับความต้องการเหล่านั้น ในส่วนที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมรถยนต์ และหน้าที่ของรัฐบาล คือ ต้องสร้างโอกาส ในการสร้างโครงสร้าง ให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ และต้องหาที่ใหม่ให้อุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถดูแลคนงานไทยได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ฉะนั้น ก็ต้องหาพื้นที่ดอนในประเทศ หาน้ำ หารถไฟความเร็วสูง ที่เป็นโลจิสติกส์ที่สำคัญที่จะเชื่อมจากทางเหนือลงทางใต้ จากปักกิ่ง-กรุงเทพฯ และจะต้องใช้เชื่อมเส้นทางเศรษฐกิจหมายเลข 9 East-West Economic Corridor เพื่อไปสู่ท่าเรือทวายของประเทศพม่า ที่มีความสำคัญมากเพราะเป็นโลจิสติกส์ที่จะลดต้นทุนของประเทศไทยและสร้าง กระบวนการบริโภคใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคม

หมายความว่า คนในเขตกรุงเทพฯก็จะใช้เงินจากสินค้าแปลกๆ จากต่างจังหวัด โดยใช้เวลาขนส่งน้อยลง จะสามารถกินอาหารสดๆ ได้ เช่น ปลาแปลกๆ จากแม่น้ำโขง ผักต่างๆ ของภาคอีสาน หรือเส้นขนมจีนพิเศษจากอีสาน ซึ่งคนอาจลืมไปว่า การบริโภคอาหารมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้จากความหลากหลายและจากกระบวนการโลจิสติกส์ที่รวดเร็ว

ส่วนประกอบของไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตใหม่ จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางโลจิสติกส์ ต่อไปวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ พอตกเย็นนัดครอบครัวขึ้นรถไฟความเร็วสูง 200 กม./ชั่วโมง ไปกิน เที่ยว นอนในต่างจังหวัด พอคนกรุงเทพฯไปอยู่ต่างจังหวัดมากขึ้น คอนโดมิเนียมในกรุงเทพจะกลายเป็นคอนโดห้องเล็กๆ แต่หรูหราเกิดสไตล์ใหม่ขึ้น
ฉะนั้น อนาคตของประเทศไทยคือ จัดการโครงสร้างเหล่านี้ จากนั้น “สิ่งที่จะตามมา ก็จะตามมาเอง”

“เมืองไทยคิดแค่ว่าจะทำอย่างไรที่จะส่งออกเงินออมของคนกรุงเทพฯไปต่างจังหวัด อินเตอร์เน็ตอีก 5 ปีข้างหน้า ควรจะเป็น 4 จี การไปมีบ้านอยู่ในระยะ 150 กม.จากกรุงเทพฯ ดีกว่ามาพักที่กรุงเทพฯ เรื่องอะไรจะไปสร้างบ้านอยู่ในพื้นที่น้ำอาจจะท่วม กับการนั่งรถไฟ 200 กม.ต่อชั่วโมง อยู่ห่างกรุงเทพฯ 100 กม. ก็ใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมง”

การพัฒนาโลจิสติกส์จะทำให้คนไทยได้มีบ้านที่มีสวน มีแม่บ้านที่ไม่ต้องจากบ้านมาไกลๆ เพื่อมาทำงานให้ จะช่วยลดการเคลื่อนย้ายของคนเข้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และยังเอาคนในกรุงเทพฯไปอยู่นอกเมือง จะเกิดการสร้างงานต่อเนื่อง และเมื่อมีโลจิสติกส์แบบนี้ ก็จะเกิดธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะบริการคนนอกกรุงเทพฯเกิน 150 กม.ในระดับมหาศาล

ขณะ เดียวกัน การเชื่อมโยงโลจิสติกส์ใหม่ๆ จะยิ่งดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่น ที่ต้องการการลงทุนใหม่ผ่านไทยไปอินเดีย จึงต้องเร่งทำพิธีกรรมทางศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งสำหรับเส้นทา งอีสต์-เวสต์ คอร์ริดอร์ และนอร์ท-เซาท์ ผ่านลาวออกไปจีนควบคู่กันไป เรียกว่า Reverse cross strategy หรือกลยุทธ์ย้อนกลับข้าม

เรียกหาระบบ “นิติธรรม” เลิก “สองมาตรฐาน”
แต่ทั้งหมดทั้งปวง เขาบอกว่า จะเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้อย่างผิดเพี้ยน หากเราไม่มี “ระบบนิติธรรม” ที่ชัดเจนและนิ่ง ไม่ใช่ “สองมาตรฐาน” เช่นปัจจุบัน คำว่า “สองมาตรฐาน” ไม่ใช่ เสื้อเหลือง เสื้อแดง ด่ากันเอง นักธุรกิจก็ด่า ฉะนั้น ถ้าระบบนิติธรรมที่ยังเป็นสองมาตรฐาน จะไปได้ไม่ไกล
พร้อมกันนั้น ต้องจัดหากระบวนการให้คนทะเลาะกันทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ โดยทุกอำนาจในสังคมไทย ต้องยอมรับระบอบประชาธิปไตย คือ “การยอมให้คนทำผิดและล้มเหลวและหลีกไปให้อีกคนขึ้นมาแทน ถ้าหากไม่เอาระบอบประชาธิปไตย คนที่ทำผิดและล้มเหลวจะไม่ยอมไป”
โดยที่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่สุดในการจัดการสร้างความน่าเชื่อถือของประเทศ ทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างการเมือง และโครงสร้างระบบนิติธรรม ถือเป็นเรื่องระดับความมั่นคงของประเทศ ฉะนั้น ใครที่อยู่ในคุก ออกมาให้หมด ที่ทะเลาะกันให้เลิก ไม่เช่นนั้นไม่ทันกาล
ยุทธศาสตร์ในขณะนี้ ประเทศเพื่อนบ้านมีความสำคัญกับประเทศไทย และไทยก็มีความสำคัญกับเพื่อนบ้านมาก ฉะนั้น ต้องมาคิดว่า จะทำอย่างไรกับญี่ปุ่น? จะทำอย่างไรกับอินเดีย? และจะทำอย่างไรกับตัวเอง?
“อย่า เผาบ้านตัวเอง วิธีการคือเอาประชาธิปไตย เอามาตรฐานเดียวของระบบนิติธรรม เพราะเวลาประชาชนล้มเหลว ประชาชนต้องจ่ายเอง ไม่ใช่ให้รัฐมาจ่าย ขณะที่ทุกความล้มเหลว คือบ่อเกิด Creativity หรือการสร้างสรรค์”

เปลี่ยนระบบบริหารจัดการน้ำประเทศ

ภายหลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เขาเสนอแนะว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการน้ำใหม่ทั้งหมด ให้มีองค์กรดูแลชัดเจน เพราะไม่ว่าประเทศไทยมีงบประมาณหลายแสนล้านบาทเพื่อลงทุนสร้างโครงสร้างพื้น ฐาน จะทำฟลัดเวย์แบบใด แต่ถ้าไม่เปลี่ยนระบบการบริหารจัดการน้ำก็ไม่มีประโยชน์


“จะเลือกฟลัดเวย์แบบไหนว่าไปเลย แต่ต้องมีคนรับผิดชอบที่ชัดเจน เป็นองค์กรๆ เดียวทำหน้าที่ 24 ชั่วโมง เพราะตอนนี้ใครบริหารบ้างไม่รู้ และนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ก็ไม่ได้มีหน้าที่บริหารน้ำ”
โดยการทำฟลัดเวย์ ต้องจัดการคุยกับประชาชน โดยเห็นด้วยอย่างมาก ที่จะบอกชาวนาเพื่อขอใช้พื้นที่ของเขา 3 เดือน และรัฐจ่ายให้เอาน้ำลงนา ชะลอน้ำไว้ แต่คลองในกรุงเทพฯต้องลึก กว้าง ห้ามมีจอกแหน ต้องมีการตรวจเครื่องสูบน้ำและสตาร์ทเครื่องสัปดาห์ละครั้ง
ขณะเดียวกัน ต้อง “คิดสร้างสรรค์” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นจากฟลัดเวย์ โดยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ถูกทำเป็นฟลัดเวย์เพื่อให้น้ำไหลผ่าน ให้ช่วยกันคิดว่าจะเอาประโยชน์ที่น้ำผ่านได้อย่างไร เช่น ถ้ามี 5-10 อบต.ที่น้ำผ่าน สมมตินาน 3 เดือน ก็ร่วมมือกันจัดเทศกาลตกปลา หรือจัดทำเป็นเขตการท่องเที่ยว

“การห้ามคนไทยไม่ให้ทำผิดกฎหมายผังเมือง ถือเป็นเรื่องยาก นอกจากสร้างแรงจูงใจให้คนไทยไม่อยากทำผิดกฎหมายผังเมือง และได้มากกว่า สิ่งเหล่านั้น คือการสร้างสรรค์คุณค่าและมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจไทยให้เกิดขึ้น

ความเสียหายต่อทรัพย์สินคนไทยที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยในครั้งนี้มากมายมหาศาลถึง 1.4 ล้านล้านบาท แต่สิ่งที่เสียหายมากยิ่งขึ้นไปอีก คือความมั่นใจของนักลงทุนและคนไทยเอง จึงถือเป็นเรื่องร้ายแรง

เป้าหมายอนาคตประเทศไทยตามแผนทั้งหมดนี้ ดร.พันศักดิ์ สรุปว่า ครึ่งหนึ่งต้องเสร็จภายในไม่เกิน 4 ปี อีกครึ่งควรต้องเสร็จภายในไม่เกิน 10 ปีนับจากห้วงเวลานี้ และถ้าไม่ทำ “อนาคตของประเทศไทย” ก็จะลำบากอย่างแน่นอน.

เพียงแค่ "อำนาจ" ก็ทำกับชีวิตคนไ้ด้ทุกอย่าง



โคตรเก่งเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น