วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

>> เอาแล้ว อียูตัดสิทธิ์จีเอสพีไทยทั้งประเทศ

อียูตัดสิทธิ์จีเอสพีไทยทั้งประเทศ "บุญทรง"เปิดเจรจาเอฟทีเอแก้เกม
updated: 08 ก.ค. 2555 เวลา 19:23:31 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
"บุญทรง" สั่งเร่งเจรจา FTA ไทย-ยุโรปภายในปีนี้ หวังแก้เกมอียูตัดสิทธิพิเศษ GSP ในปี 2558 ชิมลางสินค้า 4 กลุ่ม รถยนต์-กุ้งต้มสุก-อาหารปรุงแต่ง-อัญมณี/เครื่องประดับ มีสิทธิ์ไปก่อนในอีก 18 เดือน ยักษ์ใหญ่ CPF ไม่หวั่นเตรียมย้ายฐานผลิตกุ้งต้มไปเวียดนามดอดเช่าโรงงานจ้างผลิตกุ้งต้มใน สเปน-โปรตุเกส รถยนต์ต้องยอมรับภาษีนำเข้าเต็มกระทบราคาขายในตลาดยุโรปทันที

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการตัดสิทธิพิเศษอัตราภาษีศุลกากร(GSP-EU) ว่า สหภาพยุโรปได้ประกาศเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การให้สิทธิพิเศษ GSP ใหม่เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญจะ "ยกเลิก" การให้สิทธิพิเศษ GSP กับประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป (Upper-Middle Income) ขึ้นไป ส่งผลให้ประเทศที่ได้รับสิทธิตามหลักเกณฑ์ใหม่จะลดลงเหลือเพียงไม่เกิน 80 ประเทศจากที่เคยได้รับสิทธิ์ทั้งหมด 176 ประเทศ
ทั้งนี้ ประเทศไทย จะถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP-EU ทั้งหมดเป็นการแน่นอนแล้ว เนื่องจากตามนิยามของ ธนาคารโลก ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป จากเดิมที่ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางต่ำลงมา หรือ Lower-Middle Income ส่งผลให้สินค้าส่งออกจากไทยไปยังสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2558 

จะเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ หรือ MFN เป็นจำนวนหลายร้อยรายการ

ใน ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-เมษายน 2555) ปรากฏ ประเทศไทยมีการใช้สิทธิพิเศษ GSP ส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรปคิดเป็นมูลค่า 2,869.45 ล้านเหรียญ หรือ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าส่งออก 3,111.37 ล้านเหรียญ

ส่งผลให้สัดส่วนการใช้สิทธิพิเศษลดลงเหลือร้อยละ 65.1 เมื่อเทียบกับการใช้สิทธิ์ในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่สัดส่วนร้อยละ 66.54

อย่าง ไรก็ตามก่อนที่ประเทศไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ทั้งหมดภายในปี 2558 นั้น ในระหว่างนี้มีรายงานเข้ามาว่า จะมีสินค้าไทยใน 4 กลุ่มหลักถูกสหภาพยุโรปสั่งระงับสิทธิพิเศษตามหลักเกณฑ์ Product Graduation หรือ มูลค่าส่งออกของประเทศผู้ได้รับสิทธิเกินกว่าร้อยละ 17.5 ของมูลค่าการนำเข้ารวมของสินค้ารายการนั้น โดยสินค้าทั้ง 4 กลุ่มได้แก่ พิกัด S-4a สัตว์น้ำแปรรูป, S-4b อาหารปรุงแต่ง, S-14 อัญมณี และเครื่องประดับ และ S-17b ยานยนต์อุปกรณ์/อากาศยาน

โดยมีข้อน่า สังเกตว่า รายการสินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิพิเศษ GSP ตามเกณฑ์ Product Graduation จะประกอบไปด้วย
1)รถยนต์นั่ง/รถแวน/ปิ๊กอัพ อัตราภาษี GSP ร้อยละ 6.5 อัตราภาษีปรกติ (MFN) ร้อยละ 10 
2)รถ จักรยานยนต์ GSP ร้อยละ 2.5-4.5 MFN ร้อยละ 6-8 
3)ยางรถยนต์ GSP ร้อยละ MFN ร้อยละ 4-4.5 
4)สิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม GSP 6.4-9.6 MFN ร้อยละ 8-12 
5)รองเท้า GSP ร้อยละ 11.9 MFN ร้อยละ 17 
6)สับปะรดกระป๋อง GSP ร้อยละ 0 MFN ร้อยละ 25.6 
7)กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง GSP ร้อยละ 4.2 MFN ร้อยละ 12 
8)อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปประเภทปลา GSP ร้อยละ 9-20.5 MFN ร้อยละ 12.5-24 และ 
13)อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปประเภทกุ้ง GSP ร้อยละ 7 MFN ร้อยละ 20

ด้านภาคเอกชนมีความกังวลกับการถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ในช่วงนี้ก่อนที่จะถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทั้งหมดในปี 2558 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มรถยนต์-กุ้ง และสับปะรดกระป๋อง โดยนายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า CPF
มีการส่ง ออกกุ้งต้มไปสหภาพยุโรปคิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท หากประเทศไทยถูกตัดสิทธิพิเศษจริง ทาง CPF ก็พร้อมที่จะใช้ฐานประเทศเพื่อนบ้านเป็นที่ผลิตกุ้งต้มส่งออกแทน อาทิ เวียดนาม ที่ยังได้รับสิทธิพิเศษ GSP อยู่ "เราต้องเร่งเปิดเจรจา FTA กับ สหภาพยุโรป เพื่อลดอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกัน เช่นเดียวกับมาเลเซียที่ถึงแม้จะถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ไปแล้ว แต่จะได้ลดภาษีนำเข้าเป็น 0 ตาม FTA อียู-มาเลเซีย"

ล่าสุดมีรายงาน ข่าวเข้ามาว่า กลุ่ม CP ต้องการให้รัฐบาลเปิดการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) กับ สหภาพยุโรปทันที หลังจากที่ล่าช้ามาไม่ต่ำกว่า 3 ปีจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง เนื่องจากภาคเอกชนมีความเชื่อว่า ในระหว่างที่มีการเจรจา FTA ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าโดยเฉพาะ กุ้งต้ม เข้าไปจำหน่ายในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการได้รับสิทธิพิเศษ GSP มาเป็น FTA ได้อยู่ หรือเท่ากับมีเวลาส่งออกกุ้งต้มภายใต้ GSP ต่อไปได้อีก 18 เดือนภายใต้ Product Graduation หรืออีก 3 ปีภายใต้เกณฑ์ใหม่(Upper-Middle Income)

"ความจริงทาง CPF มีการเตรียมการไว้หมดแล้ว หากถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP รายการกุ้งต้มสุก เราก็พร้อมที่จะส่งกุ้งดิบเข้าไปแปรรูปเป็นกุ้งต้มในโรงงานที่สเปนหรือ โปรตุเกส ซึ่งมีการเช่าโรงงานและจ้างผลิตไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว" แหล่งข่าวกล่าว
นายสุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานกรรมการ บริษัทเทสโก้ โลตัส กล่าวว่า จากตัดสิทธิพิเศษ GSP ในรายการกุ้งแปรรูป อาจจะทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบราคากุ้งตกต่ำ ดังนั้น ปีนี้ทางเทสโก้ฯจะรับซื้อกุ้งสดจากเกษตรกรเพิ่มขึ้นอีก 20% หรือประมาณ 12,000 ตัน เพื่อจำหน่ายในประเทศ 3,000 ตันและส่งออกไปจำหน่ายในสาขาของเทสโก้ต่างประเทศอีก 9,000 ตัน

รายงาน ข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในบรัสเซสล์ ระบุถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสินค้ากุ้งสุกหรือกุ้งแปรรูปไทยที่ส่งออก ไปสหภาพยุโรปจะต้องเสียภาษีในอัตราปกติ 20% ขณะที่เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย ทั้งสามประเทศยังคงได้รับการจัดกลุ่มให้อยู่กลุ่ม Lower-Middle Income จึงจะยังคงได้รับสิทธิพิเศษ GSP ต่อไป

ส่วนด้านการส่งออกรถยนต์ไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งจะต้องถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP เหมือนกับกุ้งนั้น นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า อัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตจากประเทศไทยเพื่อส่งเข้าไปจำหน่ายในยุโรปจะ ถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นส่งผลให้ราคาจำหน่ายรถยนต์ต้องปรับราคาขึ้นตาม ไปด้วยอย่างเเน่นอน
"ปัจจุบันมีการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณ 10% ส่งออกไปยุโรป ขณะที่รถยนต์ทั้งคันส่งออกประมาณ 500,000 ล้านบาท ตลาด 10% เป็นตลาดยุโรปเช่นกัน ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นก็อาจจะทำให้ตลาดชะงักไปได้บางส่วน แต่ขณะนี้เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในยุโรปเกิดปัญหาทำให้ยอดการส่งออกรถยนต์ลด ลงมาในระดับ 6-7% เท่านั้น" นายศุภรัตน์กล่าว

ด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมเปิดการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี

ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (FTA ไทย-อียู)ให้ได้ภายในปีนี้ เพื่อให้ทันต่อการระงับสิทธิพิเศษ GSP ของสหภาพตามหลักเกณฑ์ใหม่ (Upper-Middle Income)ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยสหภาพยุโรปจะให้เวลาปรับตัวจนถึงสิ้นปี 2557 และจะตัดสิทธิ์ทั้งหมดประเทศในปี 2558
โดยผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามไปยังนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมเจรจาการค้าฯจะดำเนินการสานต่อกระบวนการเปิดเจรจา FTA ไทย-อียู โดยในวันที่ 23-24 กรกฎาคมนี้ จะเดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหภาพยุโรป เพี่อหารืออย่างตรงไปตรงมาถึงแนวทางการเปิดเจรจา FTA ว่า หากเปิดเจรจาครอบคลุมทั้งกรอบการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุนแล้ว จะวางแนวทางอย่างไร และจะต้องประสานความเข้าใจกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเทศ หลังจากที่มีการประชาพิจารณ์ไปแล้วเมื่อ 1-2 ปีก่อน เพื่อปรับความเข้าใจ ในกรณีที่หลายฝ่ายยังคัดค้าน ก่อนที่จะสรุปกรอบการเจรจาเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาที่มีกำหนดเปิดวันที่ 1 สิงหาคมนี้ เพื่อให้พิจารณาตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550

ขณะ ที่ นายร็อลฟ-ดีเลอร์ ดาเนียล ประธานสมาคมศูนย์ส่งเสริมธุรกิจยูโรเปียน-อาเซียน หรือ EABC กล่าวว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมากเพราะ ไทยเป็นประเทศที่ใช้สิทธิ GSP สูงมาก ดังนั้น FTA ไทย-ยุโรป จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก "มาตรการเดียวที่นักลงทุนยุโรปในไทยพยายามผลักดันเพื่อรองรับ GSP ที่จะหมดลงคือ พยายามเร่งให้เกิดการเจรจา FTA ไทย-ยุโรป โดยไม่ใช่ผลักดันแต่เพียงภาครัฐของไทย แต่เราเองก็ผลักดันภาครัฐของสหภาพยุโรปในอีกทางหนึ่งด้วย ขณะนี้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มเปิดเจรจาอีกครั้ง"
*******************************
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธปท.สั่งแบงก์สำรองเพิ่ม รับมือวิกฤติเศรษฐกิจ
- วิกฤติเศรษฐกิจที่ยุโรปยังไม่จบสิ้ิน...ไซปรัสยื่นขอรับความช่วยเหลือจากอียูเป็นรายที่ห้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น