วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

>> การสาธารณสุขที่ชายแดนอำเภอพบพระ

Shot in Popphra district in Tak province, this short campaign digital film is dedicated to all public health workers on the Thai-Burma border. Produced by Mayim Studio with support of PLE Thailand.

>> พลาดโอกาสอีกแล้ว


เครือข่ายโอทอปตาก จับมือกับเครือสหพัฒน์ จำหน่ายสินค้า คุณภาพ ราคาถูก ในงานตากสินมหาราชานุสรณ์ ถึงวันที่ 3 มกราคม 2556
นางพรรณทิพย์ ไชยชนะ ประธานเครือข่ายโอทอปจังหวัดตาก กล่าวว่า การจำหน่ายสินค้าโอทอป 3-5 ดาว ที่บริเวณหน้าศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อ.เมือง จ.ตาก ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2555 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา ประชาชนชาวจังหวัดตาก และจังหวัดใกล้เคียง สนใจเข้ามาซื้อหาผลิตภัณฑ์ 1 ตำบล และซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ในเครือบริษัทสหพัฒนพิบูลย์ จำกัด 3-4 วันที่ผ่านมา ชาวตากและจังหวัดใกล้เคียงให้ความสนใจซื้อสินค้าดีงกล่าวข้างต้น เป็นจำนวนมาก เนื่องจากสินค้าราคาถูก มากกว่าห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกในจังหวัดตาก เหลือระยะเวลาอีก 2 วัน ขอเชิญชวนให้ผู้เข้าชมงานตากสินมหาราชานุสรณ์ ไปเยี่ยมชมและซื้อหาสินค้ากลับบ้าน เนื่องจากสินค้าในบางรายการใกล้หมดแล้ว
ขณะเดียวกันที่ร้านค้าสหกรณ์ตากบีฟ จำกัด บูทกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใกล้กับสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตาก มีการจำหน่ายเนื้อโคขุนตากบีฟ ร้านค้าจำหน่ายสเต็กส์เนื้อ หมู ปลา และมีไอครีม(นม) อร่อย หอมหวาน ที่มีคุณภาพมากว่ายี่ห้ออื่น ในท้องตลาดทั่วไป ราคาโปรโมชั่น ถูกมาก อยากให้ไปชิมดู รวมทั้งซื้อหาเนื้อแปรรูปเนื้อโคขุน อันดับหนึ่งของประเทศ กลับไปรับประทานที่บ้าน

นางพรรณทิพย์ ไชยชนะ กล่าวต่อไปว่า เหลือระยะเวลาอีก 2 วัน งานตากสินมหาชานุสรณ์ ก็จะเสร็จสิ้นลงในวันที่ 3 มกราคม 2556 จึงขอเรียนเชิญพ่อบ้านแม่บ้าน และนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวงานตากสินมหาราชานุสรณ์ ไปซื้อสินค้าโอทอป และสินค้าเครือสหพัฒน์ ที่เป็นของอุปโภคบริโภค นัย 100 ชนิด ได้ที่ร้านค้าจำหน่ายโอทอป และสินค้าเครือสหพัฒน์ ณ บริเวณลานจอดรถยนต์ หน้าศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดตาก โดยพร้อมเพรียงกัน.

>> ประกวดร้านค้าในงานตากสินมหาราชานุสรณ์ ประจำปี 2555-2556


“นวพล” นำคณะกรรมการ ฯ ตรวจให้คะแนนกับร้านภาครัฐ เอกชน ที่มีผลงานสร้างสรรค์ในงานตากสินมหาราชานุสรณ์ ประจำปี 2555-2556
เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2555 นายนวพล รอดสังข์ รักษาการในตำแหน่งจ่าจังหวัดตาก นำทีมคณะกรรมการการประกวดร้านค้า งานตากสินมหาราชานุสรณ์ เดินตรวจให้คะแนนกับร้านค้าหน่วยงานภาครัฐ เอกชน 12 ร้าน ที่ส่งเข้าประกวด ฯ โดยมีหลักเกณฑ์มีผลงานสร้างสรรรค์ มีความหลากหลายของผลงานวิชาการ ผลงานกิจกรรมที่เข้าไปในพื้นที่ ความสวยงาม การตบแต่งร้านขบวนการคิด การทำ นิทรรศการผลงาน ที่เชื่อมโยงการเติบโตรองรับความเป็นประชาคมอาเชียน ปี 2558 และเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์และการพัฒนาจังหวัดตาก ในแผน 3-4 ปีข้างหน้า

อย่างร้านของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตาก ก็เป็นหลากหลายในเรื่องการท่องเที่ยว และการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในฐานะที่ตาก เป็นเมืองพักครึ่งทาง เป็น 4 แยกอาเชียน ถนนเอเชีย 2 เชื่อมเมืองเหนือ กับ เมืองใต้ และถนนเอเชีย 1 เชื่อมเมืองตะวันตก กับเมืองตะวันออก โดยตากเป็นศูนย์กลาง และเป็นการโชว์แหล่งท่องเที่ยวตาก แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ น้ำตกทีลอซู ไม้กลายเป็นหิน เจดีย์วัดพระบรมธาตุ อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง เขื่อนภูมิพล เป็นต้น
ร้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้านค้านี้นำผลผลิตทางเกษตรจากทุกอำเภอ สหกรณ์ตากบีฟ จำกัด ตั้งร้านค้าจำหน่ายสเต๊กส์ เนื้อโคขุน ไอครีม ร้านค้าในสังกัดกระรวงเกษตร ทำไร่นาสวนผสม โครงการเศรษฐกิจพอเพียง ร้านสถานีหม่อนไหม จัดนิทรรศการหม่อนไหม และมีสินค้าของสถานี และในโครงการพระราชดำริ มาจำหน่าย
ร้านค้าของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาก เขต 1 และ 2 โชว์ศักยภาพการศึกษา รองรับประชาคมอาเชียน (AEC.) ชีวประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ได้ประกอบวีรกรรมทั้งก่อนและกู้เอกราชชาติไทย รวมทั้งการทำนุบำรุงบ้านเมือง การศึกษา ศาสนา และมีการแสดงผลงาน งานวิจัย งานนิทรรศการ ผลงานที่น่าทึ่ง และจะมีการสานต่อในเรื่องการศึกษา และรองรับการเติบโตทางการศึกษา ที่เกี่ยวข้องการค้า อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ที่จะเป็นประโยชน์กับตากในอนาคต และหลังจากนั้น คณะกรรมการ ฯ ได้ตรวจครบทุกร้านค้า ที่ส่งเข้าประกวด 12 แห่ง
นายนวพล รอดสังข์ รักษาการจ่าจังหวัดตาก กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการ ฯ จะจัดประชุมและลงมติผลคะแนนรวมอีกครั้งในวันที่ 11 มกราคม 2556 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมฝ่ายปกครอง ชั้น 3 ศาลากลางตังหวัดตาก อำเภอเมือง จังหวัดตาก โดยมีรางวัลชนะเลิศ เป็นเงินสด 20,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และรางวัลรองชนะเลิศ ที่ 1 และ 2 รางวัลชมเชย ลดหลั่นเงินรางวัลกันลงมา.

>> วัฒนธรรมหินตั้ง บ.วังประจบ ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย


 ‘วัฒนธรรมหินตั้งบ้านวังประจบ จ.ตาก : พิธีกรรมการทำกล่องหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย’

เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2555 อาจารย์ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เดินทางไปสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีนายเสียน ที่ตำบลวังประจบ อำเภอเมือง จังหวัดตาก ทำให้ได้ข้อมูลอันน่าสนใจว่าที่นี่เป็นแหล่งโบราณคดีแห่งที่สองที่ค้นพบวัฒนธรรมการทำหินตั้ง (Menhir) กับพิธีกรรมการทำกล่องหิน (slab stone box) โดยเขียนไว้ในบทความ ‘วัฒนธรรมหินตั้งบ้านวังประจบ จ.ตาก : พิธีกรรมการทำกล่องหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย’ ระบุว่า

แหล่งโบราณคดีนายเสียนมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งหินตั้งและการประกอบพิธีกรรมการทำกล่องหินที่มีขนาดพื้นที่แหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีพื้นที่ประมาณ 75x30 เมตร ตั้งอยู่บนที่ลาดเชิงเขา ปราศจากการรบกวนจากกิจกรรมของคนในปัจจุบัน จากการสำรวจบนพื้นผิวดินพบแนวกล่องหินมากกว่า 20 จุด และพบการเรียงหินตั้งอีกหลาย 10 จุด
ด้วยความน่าสนใจดังกล่าว จึงทำการขุดค้นจำนวน 2 หลุมคิดเป็นพื้นที่ 60 ตารางเมตร แต่ปรากฏว่ากลับพบกล่องหินในหลุมขุดค้นมากถึง 15 กล่อง และหินตั้งอีก 1 กลุ่ม ซึ่งหินตั้งนี้เป็นเสมือนกับหมุดหมายที่บอกตำแหน่งของกล่องหินและเป็นเหมือนกับแท่งหินบูชากล่องหิน สำหรับกล่องหินนั้นคือพิธีกรรมการเอาแผ่นหินฟิลไลท์ (phyllite) ขนาดเล็กใหญ่ขัดจนเรียบมาเรียงต่อกันเป็นกล่องหินรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับโลงศพ วางในแกนทิศตะวันออก-ตกเสมอ 

การขุดเปิดกล่องหินจำนวน 4 กล่องภายในไม่พบโครงกระดูกมนุษย์ พบเพียงภาชนะดินเผาที่นำมาวางที่หัวกับท้ายและมีสภาพจงใจทุบให้แตก และยังพบชิ้นส่วนกำไลหินที่ตั้งใจทำลายเช่นกัน อาจเป็นไปได้ว่าเป็นพิธีกรรมการฝังศพครั้งที่หนึ่ง (Primary burial)

ส่วนกลุ่มหินตั้งพบว่าเป็นการปักหินจำนวนหลายแผ่นหลายก้อนล้อมรอบหินตรงกลางที่มีรูปร่างคล้ายกับเสา
การกำหนดอายุสมัยอาศัยการเทียบเคียงกับอายุของแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบคือราว 2,500-3,000 ปีมาแล้ว ตกอยู่ในช่วงหินใหม่ตอนปลายต่อยุคโลหะ

ทั้งนี้ จากการสำรวจหลักฐานบนพื้นผิวดิน และขุดค้นข้างต้น คาดการณ์ว่าพื้นที่แหล่งโบราณคดีนายเสียนน่าจะมีกล่องหินที่ฝังอยู่ใต้ดินอีกประมาณ 100 กล่อง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงแหล่งโบราณคดีนายเสียนจะเป็นแหล่งพิธีกรรม (Ritual site) ที่มีการทำหินตั้งกับกล่องหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และน่าสนใจมากในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งควรต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์กันอีกมากก่อนที่จะนำไปสู่ข้อสรุปในการตีความหมายของพิธีกรรมโบราณนี้เพื่อให้เกิดความถูกต้องมากที่สุด

>> ร่วมกันคิด เพื่อเปลี่ยนรองรับ AEC.


โดย...สบเกษม แหงมงาม
ผู้ตรวจภาคประชาชน ด้านเศรษฐกิจ สำนักนายกรัฐมนตรี

ผู้ตรวจกระทรวงพานิชย์ กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนตาก พบปะเรื่องเศรษฐกิจ การค้าตากในงานวิจัยเราคาดการณ์อนาคตไว้สามภาค คือภาคเทพธิดาดอย หน่อไม้ จิ้มน้ำปู สังคมตากจะอยู่ร่วมกับประชาคมอาเซียนได้ง่ายสงบ มีการติดต่อสื่อสารได้ดี และภาคที่สองเกาเหลาไม่งอก คือสังคมยังเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ การเมืองใหญ่การเมืองท้องถิ่น สีเสื้อ มีการปะทะกันทางความคิด มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจตลอดเวลา และภาคที่สาม ต้มยำกุ้งแม่น้ำเมย (ฝังหัวตะกั่ว)ในอนาคตสังคมไทยจะมีความหลากหลายในมิติความเร้นลับในปัจเจก สังคมตากไม่ใช่สังคมเปิดเผย มีความลับเยอะ ตั้งแต่แนวคิดตั้งจังหวัดแม่สอด คิดแล้วมึนสังคมแตกแยก  ตากเล็กอยู่แล้ว ตัดแบ่งตัวแบ่งเค้กจังหวัดตาก ให้มันเล็กลง ตาก ชื่อเป็นนามมงคล เมืองพระเจ้าตาก พระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงกู้ชาติกรุงศรีอยุธยา กู้เอกราชชาติไทย ไม่ควรจะแบ่งแยก และแตกความคิด
 บริเวณสี่แยกอาเชียน จุดตัดถนน AH 1 กับถนน AH 2 สี่แยกใกล้ศาลากลาง จ.ตาก ทำไม ? ไม่คิดให้ตาก ที่เป็นเมือง 4 แยกอาเชียน ที่เป็นจุดตัดระหว่างเส้นทางถนนเอเชีย 1 (AH 1) กับ ถนนเอเชีย 2 ( AH 2) ที่ตัว อ.เมือง จ.ตาก เชื่อมตะวันตก ตะวันออก และเชื่อมเหนือ-ใต้ แห่งเดียวของเมืองไทย ให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ จุดกระจายสินค้า และศูนย์กลางส่งเสริมและพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ให้เป็นจังหวัดที่ใหญ่ขึ้น รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน ( AEC.)  ซึ่งในอดีตทำไมเราไม่หยิบยกเรื่องราวและภารกิจของคณะกรรมการพัฒนาภาคเหนือ โดย พลตำรวจตรี สง่า กิตติขจร ที่ได้ส่งเสริมและพัฒนาให้ตากเป็นศูนย์กลางพัฒนาภาคเหนือ มีสิ่งเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับตาก ช่วงสมัย ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้น ตากกินบุญเก่าในการพัฒนาจังหวัดตาก  มีเพียง พณ ฯ อุดร ตันติสุนทร  อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พณฯ รักษ์ ตันติสุนทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีผลงานปรากฏในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และสังคม อย่างเด่นชัด เช่นก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทยพม่า วิทยาลัยชุมชน วิทยาลัยการอาชีพ ปรับปรุงและก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร และอื่น ๆ  ที่จับต้องได้ ส.ส.และรัฐมนตรีคนอื่น แย่งซีนผลงานของข้าราชการประจำ และภาคเอกชน  มีแต่ขึ้นป้ายผลงานคนอื่น ให้คนตาก ทราบโดยทั่วกัน และต้องยอมรับการขับเคลื่อนการพัฒนาตาก กลายเป็นภาครัฐและเอกชนไป

นิยม ไวยรัชพานิช รองประธานสภาหอการค้าไทย กับนักธุรกิจไทย-พม่า และภาครัฐสหภาพเมี้ยนมาร์
เรื่องการยกฐานะ เขตปกครองพิเศษนครแม่สอด และเมืองเศรษฐกิจพิเศษชายแดน   หอการค้าจังหวัดคิดอย่าง จังหวัดตาก (ภาคราชการ) คิดอย่าง และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดคิดอย่าง  ส่วนภาคการเมือง (ส.ส.) ไม่คิดอะไรเลย ต้องยอมรับว่า ภาคเอกชน ภาคการเมือง อปท.คิดกันมานานนับ 10 ปี พึ่งปลื้มในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประชุม ครม.สัญจร ที่โรงแรมเซ็นทรัลแม่สอดฮิลล์ อ.แม่สอด เมื่อปี 2547  และเห็นชอบให้ 3 อำเภอ แม่สอด แม่ระมาด พบพระเป็นเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

หลังที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกปฎิวัติยึดอำนาจ เมื่อปี 2549 และเขียนรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 ฉบับ คมช. 5-6 ปีที่ผ่านมา ภาคการเมืองอ่อนแอ แบ่งขั้ว แบ่งสี  สองมาตรฐาน  ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร อดีตนายกรัฐมนตรี เหยียบเงาตัวเอง คำพูดที่พูดไว้ก่อนหน้านี้ เหมือนขว้างงู ไม่พ้นคอ องค์กรภาคประชาชน สื่อมวลชน(บางค่าย)  เห็นชอบกับการรัฐประหาร หลงอำนาจ อยากเข้ามารัฐบาล ทั้งที่มีผลงานไม่เข้าตาประชาชน และประชาชนได้ตัดสินในการเลือกตั้ง เมื่อ 3 กรกฎาคม 2554 แล้ว

การเมืองท้องถิ่นตาก กระแสเปลี่ยนผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น แรงมาก ที่คนตากล้มขั้วการเมืองเทศบาลเมืองตาก และองค์กรบริหารส่วนจังหวัดตาก ทำให้ จ.ส.ต.สมชาติ เพ็ชรประเสริฐ นายกเทศมนตรีเมืองตาก และชิงชัย ก่อประภากิจ แพ้แบบหมดรูป ปัจจัยที่ชนะคนตาก อยากเปลี่ยน ไม่ใช่ปัจจัยอื่น แห่งความศรัทธา และกระสุน  ผู้บริหารที่เข้ามาใหม่อย่าง อานนท์ ทวีเกื้อกูลกิจ นายกเทศมนตรีเมืองตาก และ ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ นายก อบจ.ตาก ต้องฟังเสียงชาวบ้าน และลงไปสัมผัสชาวบ้าน อย่าไปโทษคนเก่า สร้างหนี้ไว้ให้ ไม่มีเงินพัฒนา และที่สำคัญ ต้องไว้ใจคน และให้เกียรติคน กระจายอำนาจให้อย่างทั่วถึง งานการพัฒนาเมืองตาก ถึงจะเดินไปได้

เรื่องนี้ขอให้เป็นภาพรวมของผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น หลายแห่งได้ผู้บริหารท้องถิ่น  ส.ท. ส.อบต. และ ส.อบจ.ตาก ได้คนเก่ง คนดี  คนซื่อสัตย์ มีจิตสาธารณะทำงานเพื่อสังคม ถือเป็นโชคดี ส่วนเราได้นักการเมืองใจแคบ หลงอำนาจ มาตรฐานความเชื่อถือต่ำ มาตรฐานเป็นผู้นำทางความคิด และผลงานไม่ประจักษ์เป็นที่ยอมรับของสังคม ถือเป็นโชตร้าย ถือเป็นบทเรียน ที่ต้องปรับเปลี่ยน สังคม และสื่อมวลชนต้องรวมตัวกัน ทำความจริงให้ปรากฎ

ปี 2556 นักการเมืองทุกคน ที่เป็นความหวังของคนเมืองตาก ต้องสร้างความคิดใหม่ ทำงานตามที่บอกกับชาวบ้าน ตามที่เขียนไว้นโยบาย ช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ให้เกียรติข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น และให้เกียรติชาวบ้าน และพวกพ้องพ้อง ประเภทนินทา บอกว่าคนโน้นไม่ดี อยู่ที่การปฎิบัติและพฤติกรรม และสังคมสามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากความลับไม่มีในโลก

ตากของเรานี้ ฉีดวัคซีนให้คนน้อยมาก เมื่อฉีดวัคซีนน้อยก็แน่นอน ภูมิต้านทานมันไม่มี มันก็อ่อนแอ เพราะฉะนั้นอะไรก็ได้ทั้งนั้นเลย การเมืองยังไงก็ได้ โกงกินยังไงก็ได้ ขอให้มีผลงานนิดหน่อย ถ้าปล่อยไปแบบนี้เรื่อยๆ มันก็เหมือนปลวกที่แทะกินบ้านเรือน ทำให้สังคมง่อนแง่น ในที่สุดก็จะล้มได้ มันจะล้มไปทางไหนก็แล้วแต่ แต่ว่ามันทำให้อ่อนแอมากขึ้นทุกที น่ากลัว

ผมคิดว่าคนตาก ต้องดูอดีตด้วย แล้วดูคนอื่นด้วย ดูพร้อมกันสองอย่าง ว่าอดีตเขาเคยทำ ไว้ดียังไง หรือว่าทำไม่ดี ยังไงก็อย่าไปทำตามสิ ก่อนหน้านี้  วิพากษ์วิจารย์เขา ไม่ดีอย่างโน้น อย่างนี้ ก็อย่าปฎิบัติ “เงินทอน” อย่าคิด ไม่ใช่เขาเรียกร้องร้อยละ 20 เราเรียกร้อยละ 25 มันจะสะท้อนกลับ เสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ทำดีมีชื่อเสียงมา 20-30 ปี สลายไปเพียงเสี้ยววินาที รวมทั้งเสร็จนา ฆ่าโคถึกเสร็จศึก ฆ่าขุนพล ซี่งคนเป็นผู้นำ แค่คิด ก็หมดเพื่อนพ้อง น้อง พี่ และผลักมิตรเป็นศัตรู ไม่เป็นประโยชน์อะไร สู้เอาศัตรูเป็นมิตรของผู้คนชาญฉลาดไม่ได้

เราหวังว่าคนตาก จะเรียนรู้มากขึ้น และเข้าใจมากขึ้นกับสิ่งที่เกิดขึ้น คุณจะเป็นคนดีแต่นั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้แล้ว คุณต้องกล้าเจ็บตัวออกมาพูดบ้าง แสดงจุดยืนเป็นตัวอย่างให้สังคม เราต้องเชื่อมั่นว่า ทุกคนจะเปลี่ยนตาก ให้ดีขึ้นได้ !!...