วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

>> ฉลอง 20 ปีสหกรณ์ปลอดดอกเบี้ยปัตตานี

ฉลอง 20 ปีสหกรณ์ปลอดดอกเบี้ยปัตตานี ทรัพย์สิน 1,200 ล้านเตรียมขยายสู่อาเซียน
Sat, 2012-07-07 23:56
นูรยา เก็บบุญเกิด
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน สถาบันการเงินปลอดดอกเบี้ยรูปแบบอิสลาม ฉลองครบรอบ 20 ปี มีทรัพย์สินกว่าพันล้าน สมาชิก 7 หมื่น พร้อมขยายสู่อาเซียน 
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 กรกฎาคม 2555 ที่หอประชุมใหญ่ของสนามกีฬากลางจังหวัดปัตตานี สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟาน จำกัด จัดงานครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อแสดงถึงความสำเร็จของการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์แบบอิสลามซึ่งปลอดดอกเบี้ย โดยมีสมาชิกเข้าจำนวนมากกว่า 1,000 คน
 
โดยมี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องเศรษฐกิจกับประชาคมอาเซียนในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายมีการบรรยายพิเศษการเตรียมความพร้อมของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน จำกัด สู่ประชาคมอาเซียน ในมิติของโลกมุสลิม โดย ดร. อิสมาแอลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และการบรรยายพิเศษการพัฒนาเศรษฐกิจอิสลามอาเซียนโดยดาโต๊ะซรีอันวาร์ บินอิบรอฮิม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของมาเลเซีย

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานที่ปรึกษาสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน เป็นประธานเปิดงาน กล่าวถึงผลการดำเนินงานของสหกรณ์อมมทรัพย์อิบนูอัฟฟานว่า ปัจจุบันมีทั้งหมด 11 สาขา อยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา โดยสาขาล่าสุดคือสาขาเบตง ปัจจุบันมีสมาชิกรวมกว่า 7 หมื่นคน มีสินทรัพย์รวมกว่า 1,200 ล้านบาท

นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถา เรื่อง “เศรษฐกิจอาเซียน เศรษฐกิจชุมชน” ว่า สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน เริ่มต้นจากเงินทุน 25,000 บาท มีสมาชิก 20 คน ปัจจุบันมีเงินออม 1,200 ล้านบาท มีสมาชิก 7 หมื่นคน ถือว่าเป็นสถาบันการเงินที่ไม่เล็กและไม่ใหญ่มาก แต่ยังสามารถเติบโตได้อีกต่อไป โดยเสนอให้สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน ทำธุรกิจเพื่อสังคม เช่น ด้านสุขภาพ ซึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสิ่งไม่ดีต่อสุขภาพเยอะ จึงสามารถสร้างสรรค์ธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ได้อีก และยังได้แนะนำว่า ให้เข้าไปลงทุนในต่างประเทศด้วย

ดร.แวอาแซ  แวหามะ ประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน  เปิดเผยว่า สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานเริ่มก่อตั้งเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2535 ช่วงเริ่มต้นมีสมาชิก 20 คน ด้วยเงินออมกว่า 20,000 บาท และเพิ่มขึ้นเป็น 200 คนภายในปีเดียว หลังจากนั้นสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานก็เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ดร.แวอาแซ เปิดเผยอีกว่า ช่วงปี 2539-2540 หรือช่วงต้มยำกุ้ง เป็นช่วงที่มีปัญหาเศรษฐกิจทรุดตัวมากที่สุด แต่ด้วยสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานเป็นสถาบันทางการเงินที่ใช้หลักศาสนาอิสลามเข้ามาจัดการและบริหาร จึงทำให้ไม่ประสบปัญหาทางการเงินเหมือนสถาบันทางการเงินอื่นๆ และหลังจากนั้น 4 ปีสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปี 2545 มีจำนวนเงินหมุนเวียนในสหกรณ์ถึง 300 ล้านบาท

“ปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานมีเงินหมุนเวียน และอสังหาริมทรัพย์รวมทั้งสิ้นถึง 1,200 ล้านบาท โดยขณะนี้ตนได้ให้ความรู้แก่ผู้เข้าใช้บริการและพนักงานผู้ให้บริการ ถึงการปรับตัวเข้าสู่เสรีอาเซียน ซึ่งการปรับตัวที่เป็นรูปธรรม คือ การให้ความรู้ด้านภาษาแก่พนักงานผู้ให้บริการ แต่เนื่องจากปัจจุบันพนักงานทั้งหมดของสหกรณ์อิบนูอัฟฟานใช้ภาษาไทยและภาษามลายูถิ่นในการสื่อสารเพื่อให้บริการแล้ว ตนจึงเพิ่มการอบรมภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับให้กับพนักงานทุกคนของสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานด้วย” ดร.แวอาแซ กล่าว

พ.ต.อ.ทวี  สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) กล่าวในงานครบรอบ 20 ปีสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานว่า ศอ.บต.ได้เตรียมความพร้อมด้านเศรษฐกิจด้วยการ ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากขึ้น และตนมองว่าควรส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านศาสนาในภูมิภาคอาเซียนมากที่สุด

ส่วนบรรยายกาศในงาน มีการจัดวางของจำหน่ายของใช้ อาหารของกิน จากสมาชิกสหกรณ์และมีการจับรางวัลโครงการคืนกำไร 20 ปี 20 คัน สร้างความประทับใจ และดีใจให้กับเหล่าสมาชิกได้มากทีเดียว

ข้อมูลเพิ่มเติม : (ก็พอดีผมบ้าเครื่องเสียงมาตลอดชีวิต)
สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน จ.ปัตตานี ติดตั้งระบบเสียงและภาพ สำหรับห้องประชุมทั้งหมด โดยใช้ลำโพง Wharfedale Pro และ Cerwin-Vega! พร้อมซับวูฟเฟอร์, เครื่องกรองไฟ Furman, มิกซ์เซอร์ ไมโครโฟน ฯลฯ จาก Wharfedale Pro เสียงที่ได้มีคุณภาพเสียงที่ดี และสามารถกระจายเสียงได้ครอบคลุมพื้นที่ที่ต้องการ ระดับความดังของเสียงสามารถปรับได้อิสระในแต่ละห้อง ทั้งยังชัดเจนและทั่วถึงทุกบริเวณ 








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น