วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

>> 80 ปี ประชาธิปไตยไทย ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

สังคมไทยพูดถึงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยประชาชน เพื่อประชาชน มายาวนานมากเหลือเกิน อย่างน้อยประชาชนก็มีการพิมพ์ความคิดเป็นหนังสืออย่างชัดเจนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6
 รถถังวิคเกอร์
รถถังวิคเกอร์ขนาด 6 ตัน จอดรักษาการณ์อยู่ในพระนคร
ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จนถึงวันนี้ คนไทยก็พร่ำแต่เรื่องประชาธิปไตยมาตลอด ไม่ใช่ระยะเวลาน้อยๆ ถึงวันนี้ ก็ 80 ปีแล้ว หลายคนอาจมองเห็นว่าประชาธิปไตยของไทยพัฒนามามากแล้ว แต่โดยส่วนตัวแล้ว ประชาธิปไตยของไทยไปไม่ถึงไหนแล้ว สิ่งที่เห็นมันแค่ "รูปร่าง" ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยเวลา แต่ "เนื้อหา" ทุกอย่างยังคงอยู่คู่สังคมไทยมาตลอด ไม่ว่าในเรื่องการเมือง การปกครอง ทุกอย่างยังครอบสังคมไทยเหมือนเดิม
โดยเฉพาะทัศนะคติทางการปกครอง ระหว่างข้าราชการกับประชาชน จะเห็นได้ชัดเจนมาก เราหมกมุ่นแต่เรื่องรูปแบบ ขั้นตอน เราละเลยมองข้ามความเป็นคนของประชาชนมาตลอด คำว่าประชาชนเป็นเพียงข้ออ้างลำดับต้นๆ เท่านั้น.........
พอดีอ่านพบข้อข้อเขียนนี้ ถูกใจนัก ขอยืมมาเผยแพร่ เพื่อสนับสนุนความเชื่อของตนเอง ที่ไม่อยู่ในสถานะที่จะแสดงความคิดเห็นได้......ลองอ่านดูกัน..........อย่าเชื่ออะไร......แค่อ่านแล้วลองคิดดูด้วยตนเอง.............

80 ปีกับคำถามซ้ำๆ ซากๆ ของประชาธิปไตยไทย
Thu, 2012-07-05 18:33
ประวิตร โรจนพฤกษ์

ถึงแม้ ‘ประชาธิปไตย’ ไทยจะครบรอบ 80 ปีแล้ว แต่คำถามหรือข้อกังขาบางอย่างซ้ำๆ ซากๆ ก็ยังวนเวียนคงอยู่มิได้หายไปไหน

‘คนไทยส่วนใหญ่พร้อมสำหรับการปกครองแบบประชาธิปไตยจริงหรือ?’
ผู้ที่มีการศึกษาสูง (ในระบบ) มักอ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศซึ่งยากจนและมีการศึกษาน้อยไม่เข้าใจประชาธิปไตย รู้จักแต่ขายเสียงแถมโง่และถูกนักการเมืองชั่วๆ หลอกง่ายและมักเป็นเหยื่อนโยบายประชานิยม บางคนคิดไกลไปถึงขนาดเสนอว่าประชาชนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปเท่านั้นที่ควรมีสิทธิเลือกตั้ง บางคนถวิลหาการปกครองระบอบเผด็จการทหารหรือแม้กระทั่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


บุคคลเหล่านี้เชื่อว่าพวกเขาเหนือกว่าและมีคุณธรรมกว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศและเข้าใจประชาธิปไตยดีถึงแม้คนส่วนใหญ่ที่คิดแบบนี้มักกลับให้การสนับสนุนรัฐประหารมาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว
ผู้เขียนจะไม่ฟันธงยืนยันว่าคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ หากอยากจะบอกว่าสังคมจะก้าวหน้าเท่าเทียมมีความยุติธรรมและเป็นประชาธิปไตยไม่ได้หากคนส่วนใหญ่ในแผ่นดินไม่มีโอกาสลองผิดลองถูกและใช้สิทธิทางการเมืองที่เราทุกคนพึงมีอย่างเท่าเทียมกัน (ซึ่งการลองผิดลองถูกก็ไม่ต่างจากการหัดขับจักรยานซึ่งต้องมีพลาดบ้างล้มบ้างเป็นธรรมดา)
อย่างน้อยที่สุด ทุกวันนี้ประชาชนแทบทุกคนคงตระหนักแล้วว่าแต่ละคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่าเทียมกัน หากจะเพิกถอนสิทธิประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ สังคมไทยก็คงต้องกลับไปเป็นเผด็จการอย่างเต็มรูปแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมอาจเกิดสงครามการเมือง
Posted Image
ไม่มีสังคมใดที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้โดยปราศจากการต่อสู้ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ในแง่นี้ความพยายามที่จะลิดรอนสิทธิทางการเมืองและกดประชาชนให้เงียบหรือจัดการกับรัฐบาลที่ประชาชนเลือกโดยวิธีการที่ไม่ชอบธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตยจะเป็นตัวเร่งให้ประชาชนลุกออกมาสู้และเรียกร้องสิทธิของพวกเขา เพื่อสิทธิที่จะได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าเขาจะเกิดมาจนหรือรวย เป็นคนดีหรือชั่ว หรือเลือกพรรคการเมืองใดก็ตาม

เมื่อเร็วๆ นี้นิด้าโพลเผยว่าคนกรุงฯ ฝันอยากได้ ส.ส.ที่มีคุณธรรม จริยธรรมและมีความรู้มากสุด ซึ่งมันน่าสนใจตรงที่ว่าความคิดเช่นนี้สะท้อนอะไรเกี่ยวกับคนกรุงฯ เหล่านั้น
ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถการันตีว่าสังคมจะได้นักการเมืองดีมาเป็นรัฐบาลเสมอไป หากระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงการันตีว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันและสามารถเลือกและเปลี่ยนรัฐบาลที่ตนชอบหรือไม่ชอบได้อย่างสันติวิธี

มันเป็นการดีที่ประชาชนจะเป็นห่วงเรื่องคอร์รัปชั่นหรือนักการเมืองชั่ว แต่ตราบใดที่ทุกบุคคลสาธารณะทุกองค์กรทุกสถาบันไม่สามารถถูกตรวจสอบและวิพากษ์ได้อย่างเสมอภาค การเรียกร้องแต่ให้มีนักการเมืองดีและขจัดคอร์รัปชั่นแค่ในหมู่นักการเมืองและข้าราชการก็จะกลายเป็นการเรียกร้องให้คงไว้ซึ่งสองมาตรฐานไปโดยปริยายอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
ไม่ว่าผู้อ่านจะถวิลหาระบอบการปกครองแบบใด ตราบใดที่ประชาชนยังไม่มีสิทธิทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกันทุกคนอย่างแท้จริง ตราบใดที่ยังมีการปิดหูปิดตายัดเยียดข้อมูลด้านเดียวบางเรื่องอย่างไม่รู้จักพอเพียงและจับคนที่ตั้งคำถามเข้าคุก ตราบนั้นการต่อสู้ของประชาชนเพื่อสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริงก็จักยังคงดำเนินต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมนุษย์มิได้เกิดมาเพื่อให้มนุษย์ด้วยกันดูถูกเหยียดหยามกดขี่และล้างสมองว่าตนเองด้อยกว่าตลอดชีวิต


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น