วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

>> ข่าวเกี่ยวกับสภาวะการเงิน การลงทุน

ธปท.สั่งแบงก์สำรองเพิ่ม รับมือวิกฤติเศรษฐกิจ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 5 กรกฎาคม 2555 09:00
เกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน 
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

แบงก์ชาติสั่งสถาบันการเงิน เร่งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่ม เสริมความแข็งแกร่ง รองรับวิกฤติเศรษฐกิจโลกผันผวนหนัก

นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2555 เป็นต้นมา ธปท.ได้ขอให้สถาบันการเงินต่างๆ ทยอยตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติม เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับปัญหาเศรษฐกิจโลก รวมถึงการเติบโตของสินเชื่อที่ขยายตัวค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา

"ปกติแล้วฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน จะออกเดินสายพบแบงก์พาณิชย์เป็นประจำ ซึ่งปีนี้ทยอยออกไปพบบ้างแล้วตั้งแต่ต้นปี และได้พูดคุยหารือกับแบงก์ต่างๆ ถึงเรื่องการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มเติม ซึ่งแบงก์ก็เห็นด้วย หลายแบงก์ได้ทยอยเพิ่มไปก่อนหน้านี้แล้วด้วย" นายเกริกกล่าว
เขากล่าวด้วยว่า การขอให้สถาบันการเงินเพิ่มระดับการกันสำรอง ยืนยันว่าไม่ได้เป็นคำสั่งของ ธปท. แต่เป็นความเห็นร่วมกันระหว่าง ธปท.กับสถาบันการเงิน เพราะในภาวะเศรษฐกิจมีความผันผวนสูง การตั้งสำรองฯ เพิ่ม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ดี และสถาบันการเงินทุกแห่งก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน

"แบงก์ส่วนใหญ่ตั้งสำรองสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำอยู่แล้ว โดยเฉพาะแบงก์ที่ผ่านวิกฤติปี 2540 เพียงแต่อนาคตเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ คือ ทำให้ตัวเองแข็งแรงขึ้น เปรียบเหมือนไข้หวัดนก เราไม่รู้หรอกว่าเราจะติดหวัดหรือไม่ แต่ถ้าเราออกกำลังการ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน โอกาสติดหวัดก็ยาก การขอให้ตั้งสำรองฯ เพิ่ม ก็เหมือนเป็นการสร้างภูมิต้านทานให้กับตัวแบงก์เอง"

****************************

นักวิชาการแนะธปท.ลดดอกเบี้ยพยุงเศรษฐกิจ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 6 กรกฎาคม 2555 08:49
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ 
และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป 
มหาวิทยาลัยรังสิต

นักวิชาการมหาวิทยาลัยวิทยาลัยรังสิตแนะแบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ย 0.5-1% รับมือวิกฤติหนี้ยุโรปรุนแรง เตือนปัจจัยเสี่ยงการเมืองในประเทศครึ่งปีหลัง

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต เสนอแนะว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.5-1% ในกรณีที่ไทยได้รับผลกระทบปานกลางถึงรุนแรงโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ค่าเฉลี่ยของอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.50-32.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทจะทยอยอ่อนค่าลงจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น จากการเร่งตัวของการนำเข้าจากภาคการลงทุน และปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี และอาจเห็นเงินบาทแตะ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ในบางช่วง อัตราการนำเข้าขยายตัวที่ระดับ 12-14 % ทำให้การเกินดุลการค้าลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5 พันล้านดอลลาร์   ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล   0.5-3 พันล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 1% ของจีดีพี
ส่วนภาคการบริโภคโดยรวมขยายตัวได้ในระดับ 3-3.2% ภาคการลงทุนโดยรวมเติบโตได้ในระดับ 13-14%

ดร. อนุสรณ์ กล่าวถึง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปีมีความผันผวนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยยูโรโซนแต่มีผลกระทบไม่มากเท่าปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองภายในประเทศ กำไรของบริษัทจดทะเบียนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากนโยบายการปรับลดภาษีนิติบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีกำไรจำนวนมากและเคยเสียภาษีจำนวนมาก จะทำให้หลายบริษัทในหลาย Sector จ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
Sector ที่น่าลงทุน ได้แก่ กลุ่มพลังงาน กลุ่มสื่อสาร กลุ่มธนาคาร กลุ่มรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง (ได้รับประโยชน์จาก Mega Projects ของรัฐบาล) กลุ่มสถาบันการเงิน (ได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของสินเชื่อและส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย) กลุ่มที่มีการชะลอตัวลง เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีแนวรับอยู่ในช่วง  แนวต้าน  ขณะนี้ทิศทางของราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากระดับปัจจุบันมาอยู่ที่ 100-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล    
ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า  ความท้าทายทางนโยบายและการเตรียมรับมือต่อผลกระทบจากวิกฤติยูโรโซนต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจภายในผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างๆ เพิ่มสัดส่วนตลาดอาเซียนในการส่งออกขึ้นอีก เพื่อนำมาชดเชยมูลค่าการส่งออกที่มีแนวโน้มที่ลดลงอันเนื่องมาจากผลพวงของวิกฤตยูโรโซน พัฒนาสินค้าไทยให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพและความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เฉพาะหน้าอาจใช้มาตรการภาษีควบคู่กับการแก้ปัญหา Counter Party Risks ที่อาจเกิดขึ้น



************************

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : วิกฤติเศรษฐกิจที่ยุโรปยังไม่จบสิ้ิน...ไซปรัสยื่นขอรับความช่วยเหลือจากอียูเป็นรายที่ห้า


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น