วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

>> นายกฯโอนเงินตั้งกองทุนสตรี ยกเลิกรับสมาชิก-ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2555 ที่โรงแรมทองทารินทร์ จ.สุรินทร์ น.ส.ศันสนีย์  นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับผู้แทนเครือข่ายองค์กรสตรี ประกอบด้วย ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้แทนจากเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉม นางสุนันท์ ดวงจันทร์  ผู้แทนจากสมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย  นางฉลอง กล้าหาญ ผู้แทนจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยชาวนา และนางลาวัณย์ งามชื่น ผู้แทนเครือข่ายสตรีสี่ภาค ภาคอีสาน ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนกองทุน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวถึง การประชุมเชิงปฏิบัติการ การบรูณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล  ภาครัฐร่วมกับ เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย และเครือข่ายผู้หญิง 4 ภาค เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเครือข่ายสตรี เกี่ยวกับการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐ  โดยการประชุมเห็นร่วมกันในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภายใต้คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาตินั้น นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ จะแต่งตั้ง “ผู้ทรงคุณวุฒิ” 5 คน จากผู้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการทำประโยชน์เพื่อสังคม ผู้มีความรู้ ผู้มีประสบการณ์ในการส่งเสริมโอกาส การคุ้มครองสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศ

2.การแต่งตั้งที่ปรึกษาภายใต้คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ จะแต่งตั้ง “ที่ปรึกษา” จากผู้มีความรู้ ผู้มีประสบการณ์ในการส่งเสริมโอกาส การคุ้มครองสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศ

3.การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ จะแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนที่กำหนดจำนวน ไม่เกิน 10 คน ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555 ข้อ 20 จำนวน 5 คน จากบัญชีรายชื่อเสนอชื่อที่เครือข่ายองค์กรสตรีสตรีภาคประชาชน เสนอ

4.เมื่อประกาศรายชื่อ “คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ” แล้ว จะมีการดำเนินการแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ.2555 โดยให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาประเด็นต่างๆ เช่น 1.ยกเลิกการรับสมาชิกและให้เป็น “กองทุนเปิด” ที่ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการใช้สิทธิในกองทุนได้ทั่วถึงเท่าเทียมกัน 2.แก้ไขคุณสมบัติของผู้ที่สามารถ ขอรับสิทธิจากกองทุน

3.ทบทวนวัตถุประสงค์ของการใช้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 4 ข้อ คือ 1) เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมในการพัฒนาบทบาทสตรี 2) เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาศักยภาพสตรีและเครือข่ายสตรี 3) เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการสนับสนุนโครงการ ในการแก้ปัญหาและพัฒนาสตรี 4) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ หรือปลอดดอกเบี้ย ในการสร้างโอกาสให้สตรีเข้าถึงแหล่งเงินทุน

5.ทบทวนแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555 ข้อ 37, 38, 39  และ 40 ให้สามารถดำเนินการสอดคล้องกับดำเนินกิจกรรม เพื่อการพัฒนาบทบาทสตรี
ทั้งนี้ รัฐบาลจะดำเนินการในกระบวนการนิติบัญญัติเพื่อ แก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555 ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่มีคณะกรรมการองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ

นอกจากนี้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวเชิญชวนประชาชนร่วมในพิธีโอนเงินอย่างเป็นทางการ โดยมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ณ อิมแพค เมืองทองธานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น