วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

>> ฉลาดซื้อจับมือเครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีเกษตร ไม่เห็นด้วย ก.เกษตรฯขึ้นทะเบียนเมทโทมิล

Wed, 2012-07-11 16:22
วันพุธที่ 11 กรกฏาคม 2012 เวลา 16:13 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค


แฉบริษัทยักษ์เคมีเกษตร ผู้ผลิตและนำเข้าสารเมโทมิล ชักใยการเร่งผลักดันขึ้นทะเบียนเมโทมิล สารเคมีเกษตรอันตรายที่หลายประเทศเลิกใช้แล้ว ขณะที่ผลตรวจผักห้างยังเจอในถั่วฝักยาวเกินค่ามาตรฐานยุโรป

11 ก.ค.55 เครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีเกษตร (Thai - PAN) จับมือนิตยสารฉลาดซื้อ แฉบริษัทยักษ์ ดูปองท์ ผู้ผลิตและนำเข้าเมโทมิล ชักใยการเร่งผลักดันขึ้นทะเบียนเมโทมิล สารเคมีเกษตรอันตรายที่หลายประเทศเลิกใช้แล้ว ขณะที่ผลตรวจผักห้าง ยังเจอเมโทมิลในถั่วฝักยาว เกินค่ามาตรฐานยุโรป สะท้อนมาตรฐานชีวิตคนไทยต่ำกว่ายุโรป

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานผลตรวจผักยอดฮิตในครัวเรือนไทย 7 ชนิด ได้แก่ กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และ พริกจินดา จากห้างดังหลายห้าง ทั้งชนิดที่เป็น House brand และตรารับรอง Q เจอสารเคมีอันตรายหลายชนิด เฉพาะอย่างยิ่ง คาร์โบฟูราน และเมโทมิล ซึ่งเป็นสารเคมีเกษตรตัวที่เครือข่ายเกษตรทางเลือกเสนอให้ระงับการขึ้นทะเบียน แม้ไม่เกินค่ามาตรฐานประเทศไทย แต่เกินค่ามาตรฐานยุโรป ได้แก่ ถั่วฝักยาวด๊อกเตอร์ ผักชีห้างพารากอน และผักชีไร่ฐิติวันต์ คะน้าโฮมเฟรชมาร์ท และถั่วฝักยาวห้างเทสโก้ สะท้อนมาตรฐานการคุ้มครองสุขภาพคนไทยที่ต่ำกว่ายุโรป นอกจากนี้ทั้งเมโทมิล และคาร์โบฟูราน ก็เป็นสารเคมีเกษตรที่ตรวจพบตกค้างเกินค่ามาตรฐานในผักที่ส่งไปยุโรปบ่อยครั้งที่สุด พร้อมเสนอว่าประเทศไทยควรปรับมาตรฐานการตกค้างของสารเคมีเกษตรให้เป็นมาตรฐานเดียวกับยุโรป
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ระบุ ดูปองท์ ผู้ผลิตและนำเข้าเมโทมิล อยู่เบื้องหลังการแถลงของสมาคมชาวสวนมะม่วงที่ออกมาผลักดันการขึ้นทะเบียนเมโทมิล ชี้บริษัทที่จัดแถลงข่าวเป็นพีอาร์ของดูปองท์ และเตือนให้สังคมไทยต้องร่วมกันจับตาข้าราชการของข้าราชการระดับสูงของกระทรวงเกษตรบางคน ที่ขณะนี้ทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทสารเคมียิ่งกว่าประโยชน์และความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภคที่ได้รับพิษภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

นอกจากนี้ข้ออ้างเรื่องหากไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเมโทมิลแล้วจะทำให้ส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกมะม่วงของไทยไปยังญี่ปุ่นนั้น เป็นการสร้างภาพเกินจริงโดยเอาเกษตรกรบางคนมาเป็นข้ออ้าง ทั้งที่มีสารตัวอื่นทดแทนได้ทั้งเคมี และอินทรีย์ ทั้งนี้หลายประเทศก็มีการห้ามใช้ และไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน ในอาเซียนมี สิงคโปร์ มาเลเซีย และกัมพูชา
และการที่บริษัทและเกษตรกรบางรายอ้างว่า เมโทมิลมีราคาแพงขึ้นสองเท่านั้นมีข้อสังเกตว่า มีการนำเข้าเมทโทมิล ระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมามีการนำเข้าเมทโทมิลมากกว่า 2.4 ล้านกิโลกรัม มากกว่าปี 2553 ทั้งปีซึ่งนำเข้าเพียง 1.5 ล้านกิโลกรัมเสียอีก เบื้องหลังเรื่องนี้น่าจะเป็นกลยุทธทางการค้าของบริษัทมากกว่า

ขอเรียกร้องให้ทั้งกรมวิชาการเกษตร และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค เหนือผลประโยชน์ของบริษัท และยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศในระดับที่ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ เช่น กลุ่มยุโรป

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีประกาศห้ามใช้ และไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน เมทโทมิล คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น โดยทันที เพื่อปกป้องสุขภาพของเกษตรกรผู้บริโภค และรักษาตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น