วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

>> แรงงานข้ามชาติถูกบังคับให้อยู่เฉพาะพื้นที่ชายแดนแม้มีวีซ่า

ที่มา : ประชาไทย
Mon, 2012-07-02 23:59
มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation for the Health and Knowledge of Ethnic Labour) ออกแถลงการณ์เรื่อง "แรงงานข้ามชาติถูกบังคับให้อยู่เฉพาะพื้นที่ชายแดน" ระบุ นายจ้างในจังหวัดชายแดนกล่อมเจ้าหน้าที่ให้คุมเข้ม และจำกัดการเดินทางของแรงงานข้ามชาติ แม้ว่าแรงงานข้ามชาติที่ถือหนังสือเดินทางชั่วคราว มี VISA ซึ่งควรจะเดินทางได้ทั่วประเทศไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

แรงงานข้ามชาติถูกบังคับให้อยู่เฉพาะพื้นที่ชายแดน

นายจ้างในจังหวัดตากสามารถกล่อมเจ้าหน้าที่ให้คุมเข้มและจำกัดการเดินทางของแรงงานข้ามชาติจดทะเบียนที่ทำงานใน 5 อำเภอชายแดน ถึงแม้ว่าแรงงานข้ามชาติที่ถือหนังสือเดินทางชั่วคราว มี VISA ซึ่งควรจะเดินทางได้ทั่วประเทศไทยแต่กลับประสบกับการถูกจำกัดการเดินทางส่งผลให้ไม่สามารถออกนอกพื้นที่แม่สอดได้
จากสำเนาบันทึกข้อความของสำนักงานจัดหางานจังหวัดตาก วันที่ 5 มิถุนายน 2555 เรื่อง "แนวทางปฏิบัติตรวจสอบเอกสารประกอบการเดินทางออกนอกเขตของแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง" ซึ่งระบุว่า “สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตากได้เสนอถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพราะว่ามีการหลบหนีของแรงงานต่างด้าวเพื่อไปทำงานในจังหวัดชั้นในและปริมณฑลเป็นจำนวนมาก  "แต่สิ่งที่บันทึกข้อความของสำนักงานจัดหางานและสภาอุตสาหกรรมไม่ได้พูดถึงนั่นคือสภาพการทำงานและค่าจ้างในพื้นที่แม่สอดที่แย่มากจนทำให้แรงงานข้ามชาติต้องดิ้นรนไปหางานที่มีสภาพที่ดีกว่าในพื้นที่ชั้นใน"

แรงงานในพื้นที่แม่สอดได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการที่พวกตนต้องถูกจัดให้เป็นคิวสุดท้ายที่จะได้รับเอกสารจากการพิสูจน์สัญชาติและบัตรอนุญาตทำงาน ในขณะที่แรงงานที่ทำงานในพื้นที่อื่นๆของประเทศไทยได้รับเอกสารเหล่านั้นก่อนแรงงานที่อยู่ในพื้นที่แม่สอด ซึ่งขณะนี้แรงงานในแม่สอดได้รับเอกสารเหล่านั้นแล้ว  แต่กลับถูกปฏิบัติแตกต่างจากแรงงานที่จดทะเบียนในพื้นที่อื่นๆของประเทศไทย พวกเขาและเธอยังคงถูกจำกัดการเดินทางซึ่งขัดกับกฎหมายและระเบียบระดับชาติที่กำหนดให้แรงงานที่ถือหนังสือเดินทางชั่วคราวสามารถเดินทางได้อย่างเสรี    ซึ่งในขณะนี้แรงงานยังได้รายงานอีกว่าพวกเขาถูกเรียกให้หยุดและต้องเดินทางกลับไปแม่สอดในขณะที่พยายามจะเดินทางผ่านด่านห้วยหินฝน ทั้งที่แรงงานเหล่านี้ถือหนังสือเดินทางชั่วคราว ซึ่งมีวีซ่าและบัตรอนุญาตทำงานที่ถูกกฎหมาย ส่วนแรงงานคนอื่นๆ บางคนถูกเรียกเก็บเงินเพื่อที่จะให้ปล่อยผ่านด่านไปได้  การจำกัดการเดินทางเช่นนี้มิได้แค่เป็นการขัดต่อนโยบายระดับชาติเท่านั้น แต่หากยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตและการพึ่งพานายหน้า
เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ณ จุดตรวจด่านห้วยหินฝน ได้รับคำสั่งให้อนุญาตเพียงแต่ผู้ที่ถือหนังสือ เดินทางชั่วคราวที่จะเดินทางได้แต่ต้องมีเอกสารที่จำเป็นในการเปลี่ยนนายจ้าง ด้วยเหตุนี้ทำให้แรงงานที่ถือบัตรหนังสือเดินทางชั่วคราวถูกลดสถานะให้เท่ากับแรงงานที่ถือบัตรอนุญาตทำงานที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายอีกครั้ง แรงงานที่ถือหนังสือเดินทางชั่วคราวได้ลงทุนทั้งแรง เวลา และเงินในการเข้าสู่กระบวนการหลายขั้นหลายตอนเพื่อที่จะเปลี่ยนสถานภาพให้ถูกกฎหมาย ถือหนังสือเดินทางชั่วคราว   มีวีซ่าที่ถูกต้องและบัตรอนุญาตทำงานที่ถูกกฎหมาย  แน่นอนว่าการเกิดกรณีเช่นนี้แรงงานต้องถามตัวเองว่า ทำไม จะทำการเปลี่ยนสถานะภาพให้เสียเวลาทำไม   จะต้องให้แสดงอะไรให้เห็นอีกว่าพวกเขาเห็นความสำคัญของการทำให้สถานะถูกกฎหมาย แรงงานข้ามชาติยังคงได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย พวกเขาและเธอยังคงทำงานในสภาวะที่ต่ำกว่ามาตรฐานแรงงาน ยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางได้โดยเสรี ยังคงถูกเรียกว่า “แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง “ทั้งที่ดำเนินการปรับสถานะทางกฎหมายแล้ว ยังคงถูกกล่าวโทษว่าก่อให้เกิดปัญหาชายแดน แทนที่จะได้รับชื่อเสียงว่าเป็นผู้พัฒนาด้านเศรษฐกิจพื้นที่ชายแดนที่เคยไกลปืนเที่ยงอย่างแม่สอด จนกลายเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ
เราขอเรียกร้องให้รัฐยกเลิกการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางดังกล่าวของแรงงานที่ถือหนังสือเดินทางโดยชั่วคราวโดยทันที

เราขอย้ำอีกครั้งว่าสาเหตุที่แท้จริงของการขาดแคลนแรงงานในแม่สอด นั้นคือสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ซะจนน่าตกใจ  แต่การแก้ปัญหานั้นง่ายยิ่งนัก แทนที่สภาอุตสาหกรรมและสำนักงานจัดหางานจะจัดทำข้อเสนอให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องหน่วยงานต่างๆกระทำการที่เกินอำนาจที่ได้รับมอบหมาย ทั้งสภาอุตสาหกรรมและสำนักงานจัดหางานควรที่จะกำกับดูแลให้นายจ้างทุกสถานประกอบการในห้าอำเภอของจังหวัดตากยุติการกระทำการที่ละเมิดกฎหมายแรงงานและปฏิบัติตามกฎหมาย จ่ายค่าจ้างอย่างน้อยขั้นต่ำตามกฎหมาย ปรับปรุงสภาพการทำงานและความปลอดภัยและอย่างน้อยควรที่จะแสดงถึงการเคารพสิทธิของแรงงานผู้ซึ่งต้องทำงานอย่างตรากตรำเพื่อทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีสุขสบายมานานหลายปี
*********************


ซูจี เยี่ยมแม่สอดแรงงานต่างด้าวรอรับ-ตร.คุมเข้ม (ไอเอ็นเอ็น)
แรงงานต่างด้าวชาวกะเหรี่ยง-พม่า แม่สอด กว่า 1,000 คน ตั้งตารอรับ "อองซาน ซูจี" โดยมีกำลังทหาร ตำรวจ คุ้มกันนับ 100 นาย

วันนี้ (2 มิถุนายน) ที่สนามบินท่าอากาศยานแม่สอด แรงงานชาวกะเหรี่ยง-พม่า กว่า 1,000 คน มาเตรียมรอรับ นางอองซาน ซูจี บริเวณหน้าสนามบินท่าอากาศยานแม่สอด โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ ทหาร-ตำรวจ กว่า 100 คน คุ้มกัน โดยแรงงานที่มารอรับ นางซูจี ทั้งหมดไม่สามารถที่จะเข้าไปในบริเวณสนามบินได้ ต้องรออยู่ที่ด้านหน้าสนามบินเท่านั้น  โดยมีเจ้าหน้าที่คุ้มกันและดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา นางซูจีเดินทางมากับเครื่องบินแบบเหมาลำของสายการบินนกแอร์ ถึงสนามบินแม่สอดประมาณ 09.00 น. กลุ่มผู้ที่มารับนางซูจี โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มแรงงานที่ได้เข้ามาทำงานภายในอำเภอแม่สอดและยังมีบางกลุ่มเป็นนักศึกษาชาวพม่าที่ได้เข้ามาศึกษาในพื้นที่อำเภอแม่สอด โดยพวกเขาหวังว่าจะมีโอกาสได้พบเจอกันนางซูจี

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้มีการประสานตั้งแต่เมื่อวานกับกำลังของเจ้าหน้าด้านความมั่นคงทุกหน่วยงาน เพื่อรองรับและวางมาตรการและแผนการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในการเดินทางพื้นที่ชายแดนไทยพม่าด้านจังหวัดตากของนางซูจีโดยได้จัดแบ่งภารกิจการปฏิบัติงานให้หน่วยงานต่าง ๆ ดูแลแต่ละพื้นที่ และจุดที่มีการเดินทางไปของนางซูจี เช่น ที่ศูนย์อพยพชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง ซึ่งเป็นสถานที่ที่จะมีการประชุมระหว่าง นางซูจี กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมทั้ง กลุ่มพันธมิตรชนกลุ่มน้อย หรือ อาจจะมีการเดินทางไปเยี่ยมที่คลินิกแม่ตาวของ หมอซินเทีย หม่อง อีกแห่งหนึ่งด้วย

*****************************


ตาก- แรงงานต่างด้าวกว่า 1,500 คน เดินรณรงค์เรียกร้องสิทธิ "วันแรงงานข้ามชาติสากล" ที่แม่สอด วันนี้(20 ธ.ค.)แรงงานต่างด้าวกะเหรี่ยง-พม่า กว่า 1,500 คน ในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดตาก ได้เดินรณรงค์รอบเขตเทศบาลเมืองแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก ใน"วันแรงงานข้ามชาติสากล" ประจำปี 2552 /2009 เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคของแรงงาน ชนชาติต่างๆให้ได้รับสิทธิในด้านต่างๆ อย่างเท่าเทียม โดยมีแรงงานส่วนหนึ่งแต่งกายชุดประจำชนเผ่าชนชาติของตัวเอง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจและให้ความสำคัญกับบทบาทและหน้าที่ของแรงงาน การจัดงานวันแรงงานข้ามชาติสากลเป็นเรื่องของหลักสิทธิมนุษยชน ตามจุดมุ่งหมายที่ว่าแรงงานทั้งผองเป็นพี่น้องกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นแรงงานในชาติไหนๆ ก็มีความมนุษย์และความเป็นคนที่น่าจะได้รับการเคารพในเรื่องของสิทธิในความเท่าเทียม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น