ถึงวันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า Facebook ได้ครอบครองชีวิตคนไปแล้ว ไม่ว่าหัวหงอกหัวดำ เด็กน้อยและไอ้เฒ่า.....จากรอยหยักในสมองของ Mark Elliot Zuckerberg นักศึกษานอกคอกของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผลของความคิดที่สามารถขยี้ใจคนโดยคนไม่รู้สึกตัว....
ผ่านเรื่องการเริ่มต้นที่มากมายของการพัฒนาของ
Facebook จนถึงวันวานว่า
Facebook ได้อะไรตอบแทนจากกระแส
Social Media ที่ถล่มทลายมนุษย์โลกขนาดนี้ และวันนี้
Facebook กระโจนเข้าสู่ตลาดหุ้น ! บริษัทมหาชน ! แล้วหนทางข้างหน้าของ
Facebook !
ผู้ที่ติดตามข่าวของโลกไอที-ธุรกิจต่างประเทศ คงรับทราบข่าวการเสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ของเฟซบุ๊กในตลาดหุ้น NASDAQ ของสหรัฐกันเป็นอย่างดีแล้ว ถึงแม้ว่าการขายหุ้นครั้งนี้จะมีปัญหามากมาย เช่น ข่าวเรื่องการรับทราบข้อมูลภายใน (insider trade) ก่อนวันขายหุ้นจริงไม่นาน, ปัญหาระบบซื้อขายหุ้นของ NASDAQ ล่มไปกว่าครึ่งชั่วโมงจึงจะขายได้, ราคาหุ้นของเฟซบุ๊กที่ตกฮวบหลังการขายหุ้น ฯลฯ แต่ทั้งหมดแล้ว การขายหุ้นครั้งนี้ก็ถือเป็นก้าวที่สำคัญของบริษัทอย่างเฟซบุ๊กในการขยายตัวเป็นบริษัทระดับโลกต่อไป
ธรรมเนียมการขายหุ้นของบริษัทไอที
ตามธรรมเนียมปฏิบัติในโลกไอทีของสหรัฐ บริษัทหน้าใหม่ที่สร้างนวัตกรรมอันโดดเด่น มักเกิดจากวัยรุ่นหรือนักศึกษาที่มีความคิดนอกกรอบ พยายามแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ สารพัดอย่างด้วยนวัตกรรมด้านไอที บริษัทเหล่านี้จะขอระดมทุนจากนักลงทุนหรือบริษัทลงทุน (venture capital หรือVC) เพื่อนำเงินมาใช้จ่าย (เช่น จ้างพนักงาน เช่าสำนักงาน ฯลฯ) ในช่วง1-3 ปีแรกของการตั้งบริษัทซึ่งผลิตภัณฑ์ยังไม่เสร็จและบริษัทยังไม่มีรายได้เข้ามาจุนเจือ โดยนักลงทุนจะได้หุ้นของบริษัทไปส่วนหนึ่งเป็นการตอบแทน
เมื่อบริษัทเติบโต ผลิตภัณฑ์เริ่มมีคนใช้งาน เริ่มมีรายได้เข้ามาจากการค้าขายจริงๆ เส้นทางชีวิตของบริษัทเหล่านี้สามารถแบ่งได้ 2 แบบใหญ่ๆ คือ ขายกิจการให้บริษัทอื่นที่ใหญ่กว่า (ตัวอย่างเช่น Instagram หรือ Skype) หรือไม่ก็เสนอขายหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนในระดับที่มากขึ้น (ตัวอย่างเช่น Google)
ไม่ว่าจะเลือกวิธีไหน นักลงทุนจะได้เงินจากการขายหุ้นที่มีอยู่ให้กับเจ้าของคนใหม่ ซึ่งหุ้นก็มีราคาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเนื่องจากบริษัทดังแล้วนั่งเอง กำไรของนักลงทุนอยู่ตรงนี้ และนักลงทุนจะนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนในบริษัทอื่นๆ ต่อไปเป็นวัฎจักร
อินเทล ไมโครซอฟท์ แอปเปิล กูเกิล เติบโตมาจากเส้นทางนี้กันถ้วนหน้า โดยบริษัทดังๆ ที่ว่ามานี้เลือกเส้นทางเข้าขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนจากมหาชน และ
เฟซบุ๊กก็กำลังดำเนินรอยตามในเส้นทางนี้
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการเกิดขึ้นของเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ช่วยให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปมาก มันเปลี่ยนวิธีการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ จากเดิมที่ต้องคุยกันแบบเจอหน้าหรือแชทคุยกันในวงเล็กๆ มาเป็นโลกออนไลน์ที่เพื่อนๆ ของเราเกือบทุกคนติดต่อสัมพันธ์กันในนั้นแทน
ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่เฟซบุ๊ก (ซึ่งเป็นหัวหอกของเครือข่ายสังคมลักษณะนี้) กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับ phenomenal และมีผู้ใช้งานจำนวนมากระดับหลายร้อยล้านคน (ตัวเลขล่าสุดทะลุหลักแปดร้อยล้านแล้ว และคงถึงพันล้านในไม่ช้า) เรื่องราวของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก กลายเป็นตำนาน และถูกนำมาดัดแปลงขยายเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Social Network ออกฉายไปทั่วโลก ส่งผลให้เฟซบุ๊กโด่งดังขึ้นไปอีกในแง่วัฒนธรรมและวิถีชีวิต ไม่ใช่เรื่องไอทีเพียงอย่างเดียว
กระแสความนิยมของเฟซบุ๊กส่งผลให้การขายหุ้น IPO ของบริษัทถูกจับตาอย่างมาก และนักลงทุนจำนวนมหาศาลต่างใฝ่ฝันจะครอบครองหุ้นของเฟซบุ๊กเพื่อทำกำไรต่อในอนาคต การขายหุ้นวันแรกจึงมีคนเสนอซื้อเป็นจำนวนมากจนระบบของตลาดหุ้น NASDAQ ของสหรัฐรับไม่ไหว จนต้องเริ่มขายหุ้นช้าไปถึงครึ่งชั่วโมงจากกำหนดเดิม
โดยสรุปแล้วการขายหุ้นของ
เฟซบุ๊กประสบความสำเร็จดังความคาดหมาย และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ
“ตำนานบทที่สอง” ที่
เฟซบุ๊กต้องเผชิญต่อไป
คำถามสำคัญ: รายได้มาจากไหน?
สิ่งที่
เฟซบุ๊กเสียไปในการขายหุ้น IPO คือสถานภาพ
“ดาวรุ่ง” ของบริษัทที่ทุกคนรุมล้อม ทำอะไรก็ถูกเสมอ กลายเป็นบริษัทที่ถูกตรวจสอบและตั้งคำถามเช่นเดียวกับบริษัทรุ่นพี่อื่นๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เฟซบุ๊กจะต้องถูกกำกับดูแลโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) และถูกตรวจสอบการดำเนินการโดยผู้ถือหุ้น เฉกเช่นเดียวกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ทั่วไป
สิ่งที่เฟซบุ๊กจะต้องตอบให้ได้ในอีก 1 ปีข้างหน้าคือ “รายได้” ของเฟซบุ๊กในฐานะองค์กรธุรกิจจะมาจากไหนบ้าง
วิธีการสร้างรายได้ของเฟซบุ๊กในปัจจุบันมาจากโฆษณาเป็นหลัก มีการขายสินค้าและเงินตราเสมือนในเกมบนเฟซบุ๊กบ้างอีกจำนวนหนึ่ง แต่ปัญหาของเฟซบุ๊กคือคนใช้เยอะจริง รายได้กลับหารเฉลี่ยออกมาต่อหัวแล้วน้อยมาก เมื่อเทียบกับบริษัทที่หากินด้วยวิธีการโฆษณาแบบเดียวกันอย่างกูเกิล
ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
เฟซบุ๊กต้องพิสูจน์ตัวเองให้นักลงทุนเห็นว่า สามารถสร้างรายได้จากฐานสมาชิกจำนวนมหาศาลได้มากกว่านี้อีกมาก มิฉะนั้นสถานการณ์อาจพลิกผัน จากดาวรุ่งของโลกไอทีกลายเป็นบริษัทธรรมดาที่ไม่มีใครสนใจอีกต่อไป
บริษัทออนไลน์ที่เผชิญกับสถานการณ์แบบนี้มาก่อนคือ
กูเกิล ช่วงแรก
กูเกิลทำระบบค้นหาได้ดีมีคนนิยมใช้มาก แต่กลับไม่สามารถสร้างรายได้ในจำนวนที่ทัดเทียมกัน สุดท้ายแล้ว
กูเกิลสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์โฆษณาที่อิงตามคำค้นหาชื่อ
AdWords ขึ้นมาตอบโจทย์นี้ได้ และกลายเป็นผลิตภัณฑ์ยอดฮิตที่นักการตลาดทั่วโลกให้ความสนใจ
(เพราะโฆษณาในสิ่งที่ตรงกับสิ่งที่ผู้ใช้กำลังหาอยู่ ทำให้ประสิทธิภาพดีกว่าการซื้อสื่อแบบเก่ามาก) ความสำเร็จของ
AdWords ส่งผลให้กูเกิลกลายเป็นมหาอำนาจบนโลกอินเทอร์เน็ตได้ ทั้งในแง่
จำนวนผู้ใช้และรายได้ของบริษัทที่ยั่งยืน
เฟซบุ๊กก็กำลังเดินบนเส้นทางเดียวกัน ตอนนี้ตัวผลิตภัณฑ์หลักของ
เฟซบุ๊กคงไม่มีข้อกังขาใดๆ แล้ว แต่ลำดับถัดไป
เฟซบุ๊กต้องสร้าง
นวัตกรรมด้านรายได้ขึ้นมา ในลักษณะเดียวกับที่กูเกิลมี
AdWords ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของบริษัทสำหรับการก้าวขึ้นไปอีกระดับ
ถ้าทำได้
เฟซบุ๊กจะกลายเป็น
กูเกิลรายใหม่ หรืออาจก้าวขึ้นไปได้เหนือกว่า
กูเกิลด้วยซ้ำ แต่ถ้าทำไม่ได้ชะตาชีวิตของ
เฟซบุ๊กอาจเดินไปในเส้นทางเดียวกับยาฮู อดีตดาวรุ่งของโลกไอทีที่ปัจจุบันนี้แทบไม่มีใครสนใจอีกแล้ว
ก้าวต่อไปของผลิตภัณฑ์
ในส่วนของผลิตภัณฑ์เองก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
(เพียงแต่ประเด็นเรื่องรายได้จะถูกจับตาจากนักลงทุนมากกว่า) ตัวผลิตภัณฑ์หลักของ
เฟซบุ๊กคือระบบเครือข่ายสังคม ถือว่าค่อนข้างนิ่งพอสมควรแล้ว และเทียบกันในท้องตลาดเรียกได้ว่าไร้คู่แข่งที่น่ากลัว
เฟซบุ๊กจะต้องรีบฉกฉวยโอกาสที่มีฐานผู้ใช้มาก คู่แข่งน้อย และมีเงินสดในมือจากการขายหุ้นมาก รีบขยายสายผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้มากขึ้นตามมา
เฟซบุ๊กเองก็รู้เรื่องนี้ดี และเริ่มขยับขยายสายธุรกิจออกมายัง
อุปกรณ์พกพา ซึ่งเป็นตลาดที่เฟซบุ๊กยังทำได้ไม่ดีนัก ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการเข้าซื้อแอพถ่ายภาพมือถือ
Instagram ด้วยมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้
เฟซบุ๊กยังพยายามรุกเข้ามายังตลาดการสื่อสารโดยออก
Facebook Messenger แอพสนทนาบนมือถือลักษณะเดียวกับ
WhatsApp หรือ
LINE เข้ามาร่วมชิงส่วนแบ่งตลาดด้วย
(แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก)
ยุทธศาสตร์ด้านผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊กจะอยู่บนฐานคิดว่า “ทำอย่างไรคนจะเข้ามาใช้เครือข่ายสังคมให้มากที่สุด” จากเดิมที่คนใช้ผ่านเบราว์เซอร์บนคอมพิวเตอร์ เฟซบุ๊กต้องหาช่องทางอื่นๆ ให้เข้ามาใช้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้มากขึ้น
วิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดแบบเดียวกับ
กูเกิล (และเฟซบุ๊กเองก็มีอดีตพนักงานของกูเกิลอยู่เป็นจำนวนมาก) ดังนั้นไม่น่าแปลกใจอะไรที่เราเห็น
กูเกิลเดินหน้าขยับขยายตัวเองออกจากเว็บค้นหา เข้ามาทำเว็บเบราว์เซอร์
Chrome, ระบบปฏิบัติการมือถือ
Android และระบบปฏิบัติการ
Chrome OS ด้วย เพราะเป้าหมายของ
กูเกิลคือการเพิ่มจำนวนผู้ใช้เว็บ
กูเกิล และต้องการควบคุมช่องทางการใช้งานให้อยู่ในมือของตัวเองให้หมดนั่นเอง (
ถ้ากูเกิลพึ่งพาผู้ผลิตเบราว์เซอร์หรือมือถือรายใดรายหนึ่งมากเกินไป จะทำให้เสียความสามารถในการต่อรองไป)
ทิศทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊กในอนาคต จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเดินรอยตามกูเกิล ในการออก Facebook Phone หรือ Facebook Browser เพื่อควบคุมช่องทางการเข้าถึงบริการออนไลน์ในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่จังหวะเวลาการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์เหล่านี้จะเป็นเมื่อไรเท่านั้นเอง?
ที่มา : SIAM INTELLIGENCE
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สำนักงานของ Facebook และ Google