วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

>> ฮือฮา! ข้าวไทยจ่อทะลุ 3 หมื่นบาท

ฮือฮา ! ข้าวไทยจ่อทะลุ 3 หมื่นบาท ภัยแล้งดันราคาพุ่ง 40%-อินเดียวูบ-ชูงานวิจัยลุยตลาด


ส.ชาวนา/ส.โรงสีข้าว - ภัยแล้งสหรัฐอเมริกาลามทั่วโลก ส่งผลต่อราคาข้าว คาด พุ่งขึ้นอีก 40% จับตาหอมมะลิทำสถิติเท่าปี 2550 ทะลุ ตันละพันเหรียญ แนวโน้มอินเดียยังลูกผีลูกคน อาจส่ง ออกไม่ได้ตามเป้า ผวา! 20 ปีข้างหน้าทั่วโลกขาดแคลนอาหาร กรมวิชาการเกษตรดิ้นวิจัยข้าวพันธุ์ใหม่ ปลูกสั้น ออกรวงเร็ว

ปัญหาภัยแล้งที่กำลังคุกคามหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาซึ่งโดนไปกว่าครึ่งประเทศ กำลังกลายเป็นประเด็นถูกจับตามองว่าจะส่งผลต่อวิกฤติอาหารโลกหรือเปล่า เพราะเมื่อเกิดภาวะภัยแล้ว จะตามมาด้วยการขึ้นราคาวัตถุดิบที่ใช้เลี้ยงสัตว์เช่น กากถั่วเหลือง ข้าวโพด เมื่อวัตถุดิบขึ้นราคาก็ส่งผลให้เนื้อสัตว์ขึ้นราคา เมื่อเนื้อสัตว์ขึ้นราคาอาหารปรุงชนิดต่างๆ ก็ขึ้นราคาตาม

แต่สิ่งที่น่าจับตามองมากที่สุดคือ ราคา ข้าวในตลาดโลก เนื่องจากขณะนี้ภัยแล้งเริ่ม ลุกลามไปยังประเทศผู้ปลูกข้าวรายสำคัญอย่างอินเดียและเวียดนาม ซึ่งทั้งสองประเทศ เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่แข่งกับไทย ถ้าทั้งสองประเทศส่งออกข้าวไม่ได้ตามเป้าหมาย จะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นทันที โดยหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล คาดการณ์ว่า ราคาข้าวในเอเชียจะสูงขึ้นถึง 10% ในช่วง 3 เดือนหน้า หรือประมาณ 30-40 เหรียญสหรัฐต่อตัน

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่า เมื่อปี 2550-2551 เคยเปิดปรากฏการณ์ในลักษณะ นี้มาแล้วครั้งหนึ่ง คือเกิดภาวะภัยแล้งทำให้อินเดียประกาศงดการส่งออกข้าว ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยข้าวขาวปรับขึ้นไปตันละ 800 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวหอมมะลิทะลุตันละ 1,000 เหรียญสหรัฐ กลายเป็นอานิสงส์ต่อการส่งออกข้าวไทย

“ปีนั้นถือเป็นปีประวัติศาสตร์ที่ราคาข้าว 1 ตันแพงกว่าทอง 1 บาท ผมไม่ฟันธงว่า ปีนี้ ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยกับปี 2550 หรือ เปล่า แต่เหตุการณ์คล้ายคลึงกัน ถ้าภัยแล้งวิกฤติมากกว่านี้ แน่นอนว่าอินเดียต้องส่งออก ข้าวน้อยลงหรือหยุดส่งออก เพราะผลิตข้าวไม่ได้ตามเป้า จึงต้องสำรองข้าวไว้ให้คนในประเทศ ก่อน แต่ประเทศไทยไม่มีปัญหาเรื่องสต็อกข้าว เราสามารถส่งออกได้มากถึง 10 ล้านตัน” นายประสิทธิ์ กล่าว

นายประสิทธิ์ กล่าวต่ออีกว่า สัญญาณ ราคาข้าวที่ดีขึ้น แม้ด้านหนึ่งจะส่งผลดีต่อการ ส่งออกข้าวไทย แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจจะกลาย เป็นผลร้ายสำหรับชาวนาที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง เพราะเมื่อข้าวราคาดี เจ้าของพื้นที่ซึ่งเดิมปล่อยเช่าให้กับชาวนาก็อยากจะเข้ามา ลงทุนเอง เพราะรายได้ดีกว่า เท่าที่ทราบตอน นี้นายทุนที่ดินหลายรายเริ่มทยอยให้เลิกเช่า แล้วเข้ามาบริหารจัดการเอง ซึ่งนายทุนรายใหญ่ๆ ก็เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และพวกเศรษฐีซึ่งไปซื้อที่สะสมไว้จำนวนมาก


องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดหมายว่า ผลผลิตข้าว ของอินเดียในปี2555-2556 จะลดลง 5.6% เหลือ 98.5 ล้านตันเพราะฝนน้อย รัฐมนตรีเกษตรอินเดียกล่าวว่า ไม่มีแผนห้ามส่งออกข้าว แต่พ่อค้าบางรายเกรงว่ารัฐบาลอาจถูกบีบให้ต้องห้ามส่งออกหากภัยแล้งรุนแรงมาก ขึ้น ประกอบกับภายใน 20 ปีข้างหน้า ประชากร โลกจะเพิ่มขึ้นจาก 7,000 ล้านคน เป็น 9,000 ล้านคน ทุกประเทศทั่วโลกต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้น 70% และมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา วิกฤติขาดแคลนอาหาร

ด้านนายชาญชัย รักษ์ธนานนนท์ นายก สมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่า แนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกปีนี้น่าจะดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่จะเท่ากับปี 2550 หรือเปล่าไม่มีใครตอบได้ ส่วนภาวะภัยแล้งขณะนี้นับว่ารุนแรงมาก

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคม ผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้ส่งออกข้าวให้ช่วยประสานทางราชการ ในการเร่งรัดการแก้ปัญหาการถูกโจรกรรมข้าวระหว่างการขนย้ายที่ท่าเรือ โดยแต่ละรายจะถูกโจรกรรมไม่น้อยกว่า 100 กระสอบ คิดเป็นเงินหลายแสนบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2550 เคยเกิดการโจรกรรมข้าวระหว่างการขนย้ายอย่างหนัก เพราะข้าวมีการขยับราคาสูงขึ้นเป็นเท่าตัว

นายไพโรจน์ สุวรรณจินดา รองอธิบดี กรมวิชาการเกษตร ในฐานะโฆษกกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เบื้องต้นกรมวิชาการ เกษตรได้มีแผนเร่งวิจัยพันธุ์พืชที่มีศักยภาพ ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ใช้เวลาปลูกสั้น ได้ผล ผลิตเร็ว เพื่อใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ แก้ปัญหาการขาดแคลนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในเมืองไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานช่วงเดือนพฤษภาคมถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ประสบภัย 4,036,786 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 3,134,487 ไร่ พืชไร่ 376,489 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 525,810 ไร่ ในจังหวัดเชียงราย นครสวรรค์ น่าน พะเยา เพชรบูรณ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ เลย

ที่มา : สยามธุรกิจ  ฉบับที่ 1330 ประจำวันที่ 29-8-2012  ถึง 31-8-2012

รัฐบาลจำนำข้าวราคาแพงเกินไป ตอนนี้เปิดประมูลข้าวแล้วครับ....


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น