วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2555

>> ปิดฉากยุคค่าแรงถูก อาเซียนถึงเวลารัฐ-เอกชน เร่งปรับตัว


ปิดฉากยุคค่าแรงถูก อาเซียนถึงเวลารัฐ-เอกชน เร่งปรับตัว
ในปี 2556 นอกเหนือจากการที่แรงงานไทยทั่วประเทศอีกกว่า 70 จังหวัดจะได้รับของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล

ด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน หลังจากที่มีการปรับเพิ่มให้กับ 7 จังหวัดนำร่องไปก่อนหน้านี้แล้วในต้นปีที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนว่าแนวโน้มการขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะไม่ได้มีแต่ในเฉพาะแค่ในไทยเสียแล้ว เพราะหากสังเกตให้ดีจะพบว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันต่างก็อินเทรนด์ไปกับกระแสการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วยเช่นกัน

ไล่ไปตั้งแต่ รัฐบาลมาเลเซียเตรียมจะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในปีหน้า ขณะที่เวียดนามก็ประกาศให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแก่บริษัทเอกชนอีก 2530% และล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ก็ได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถึง 44% ไปอยู่ที่ 230 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ราว 6,900 บาท) ในปีหน้าและมีแนวโน้มว่าเมืองอื่นๆ จะเพิ่มขึ้นตามมาในอีกไม่ช้านี้

ไม่เว้นแม้แต่พม่าเอง ก็มีแววว่าเตรียมที่จะออกกฎหมายกำหนดค่าแรงขั้นต่ำในอีกไม่ช้านี้ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมีรายงานข่าวว่ารัฐบาลกำลังพิจารณากฎเกณฑ์และรายละเอียดปลีกย่อยอยู่

สะท้อนภาพชัดว่า ยุคสมัยแห่งการใช้แรงงานราคาถูก ต้นทุนต่ำ ซึ่งเคยใช้เป็นโมเดลในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมาตลอดหลายปี ได้เดินทางมาถึงจุดจบแล้ว

ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวโน้มดังกล่าวได้สร้างความหนักใจและความกังวลให้กับหลายฝ่าย โดยเฉพาะบรรดาผู้ประกอบการอยู่ไม่น้อย เพราะการขึ้นค่าแรงอย่างรวดเร็วย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มบรรดาผู้ประกอบการเอกชนขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีทุนไม่มาก ซึ่งต่างโอดครวญเป็นเสียงเดียวกันว่าจะต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน และบางรายถึงกับขู่ว่าอาจถึงขั้นปลดคนงาน และต้องเลิกล้มกิจการไป

สังเกตได้จากการที่บรรดาผู้ประกอบการเอกชนท้องถิ่นในอินโดนีเซีย รวมกุล่มกันกดดันทางการจาการ์ตาในการงดเว้นการบังคับใช้กฎหมายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกับบริษัทที่ยังไม่พร้อม ขณะที่ฝ่ายนายจ้างในไทยและมาเลเซีย ก็ร้องขอเวลาในการปรับตัวกับการที่ต้องทำตามข้อกำหนดการเพิ่มค่าแรงมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเกิดความกังวลอีกว่าการเพิ่มค่าแรงอย่างรวดเร็วอาจทำให้สินค้าและข้าวของแพงขึ้น จนส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ที่อยู่ในภาวะย่ำแย่อยู่แล้ว ให้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก อาทิ เวียดนาม ซึ่งในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 7.08% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วน สิงคโปร์ เมื่อเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ก็มีความกังวลอีกว่าต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขึ้นค่าแรงก็อาจจะส่งผลเสียทำให้ภูมิภาคอาเซียนไม่เป็นที่ดึงดูดของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน และอาจหันไปหาที่อื่นๆ ที่มีต้นทุนถูกกว่า เพื่อใช้ในการลงทุนแทนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความกังวลต่อการขึ้นค่าแรงเป็นจำนวนมาก แต่หากพินิจพิเคราะห์ถึงการปรับเพิ่มค่าแรงในอาเซียนจะพบว่า แนวโน้มดังกล่าวนี้ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้เลย

เนื่องจากถ้าหากรัฐบาลไม่ดำเนินการ ในไม่ช้าก็จะถูกประชาชนและผู้ใช้แรงงานในประเทศรุมกดดันให้ต้องดำเนินการอยู่ดี เพราะอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคข้าวของต่างๆ ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เงินในกระเป๋ากลับมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของประเด็นการหาคะแนนนิยมทางการเมืองจากผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย

กล่าวให้ชัดก็คือ เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ความเป็นอยู่ของประชาชนกลับไม่ดีขึ้นเลย

เห็นได้จากการที่คนขับรถตู้ชาวจีนในสิงคโปร์ที่ได้ก่อเหตุประท้วงรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีให้เห็นบ่อยนัก เนื่องจากคนงานเหล่านี้ไม่พอใจต่อค่าแรงที่ได้รับ สวัสดิการ สภาพความเป็นอยู่ต่างๆ ที่รู้สึกว่าแย่เกินกว่าที่สมควรจะได้รับ โดยเฉพาะนับตั้งแต่ที่รัฐบาลได้ออกมาตรการเข้มงวดกับบริษัทที่จ้างชาวต่างชาติ โดยมีจุดประสงค์เพื่อกดดันให้บริษัทต่างๆ หันมาจ้างและเพิ่มค่าแรงคนงานในประเทศมากขึ้น

ขณะที่เมื่อกลางสัปดาห์ คนงานในกรุงจาการ์ตาก็รวมตัวกันประท้วงและเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาให้การดูแลสวัสดิการคนงาน รวมถึงให้การขึ้นค่าแรงเป็นไปตามที่เคยให้สัญญาไว้

เหตุผลประการต่อมา ก็เป็นผลมาจากแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกอย่างภาวะเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง สหรัฐ ยุโรป และจีน ที่ซบเซาในระยะ 45 ปีที่ผ่านมา จนส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประเทศที่ใช้โมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มุ่งพึ่งพาการส่งออกมากจนเกินไป โดยเฉพาะไทยและมาเลเซีย ด้วยเหตุนี้ประเทศต่างๆ ในเอเชียจึงหันมาทบทวนแนวทางใหม่ด้วยการสร้างฐานการบริโภคและการซื้อขายจากตลาดภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในวิธีที่สำคัญก็คือการเพิ่มอำนาจการซื้อให้กับประชาชนในประเทศเป็นอันดับแรก

นอกจากนี้ หากมองในอีกมุมหนึ่ง การขึ้นค่าแรงครั้งนี้ก็ไม่ได้สร้างผลเสียต่อการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติอย่างที่คิดกันไว้ โดยเฉพาะการมีรายได้ที่มากขึ้นของประชาชนจะกลายเป็นแรงดึงดูดชั้นดีเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากในมุมมองนักลงทุนต่างชาติขณะนี้ไม่ได้สนใจเฉพาะแค่การลงทุนโดยอาศัยประโยชน์จากแรงงานต้นทุนต่ำอย่างเดียวแล้ว แต่ยังได้มองไปถึงการเข้าถึงตลาดฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ของภูมิภาคอีกด้วย

ดังนั้น การเพิ่มอำนาจการซื้อและการบริโภคของประชาชนจึงเปรียบดั่งเป็นโอกาสทองของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาค้าขายในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดตะวันตกกำลังอยู่ในช่วงซบเซาและถดถอยอย่างหนัก เห็นได้จากบริษัทยักษ์ใหญ่จากตะวันตกที่มีแผนเตรียมเพิ่มการลงทุนในเอเชียและอาเซียนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ฟอร์ด จีเอ็ม หรือแม้แต่ ไฮเนเก้น ที่เข้ามาซื้อหุ้นบริษัท เอเชีย แปซิฟิก บริวเวอรี่ (เอพีบี) ผู้ผลิตเบียร์ไทเกอร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ในอาเซียน จากเอฟแอนด์เอ็น โดยแข่งกับ ไทยเบฟ ของไทยอย่างดุเดือดช่วงกลางปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงความสำคัญของภูมิภาคอาเซียนได้เป็นอย่างดี

“การขึ้นค่าแรงจะนำไปสู่การดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการบริโภค เห็นได้จากยอดการลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) ในอินโดนีเซียในปีนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะว่านักลงทุนไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องค่าแรงราคาถูกแล้ว แต่ได้มองข้ามไปยังเรื่องการเข้าถึงตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่กว่า 240 ล้านแล้ว” ซูเซียนลิม นักเศรษฐศาสตร์อาเซียน ของธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี เมื่อวันอังคารที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียน ยังได้แสดงความเห็นคัดค้านต่อความคิดที่ว่าการมีค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะทำให้นักลงทุนหนีไปลงทุนที่อื่น โดยระบุว่า แม้ว่าอาเซียนจะขึ้นค่าแรง แต่โดยรวมเมื่อเทียบค่าแรงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย อย่างเช่นแถบเมืองชายฝั่งตะวันออกของจีน จะพบว่าค่าแรงอาเซียนยังถูกกว่ามาก เห็นได้จากข้อมูลของธนาคารซิตี้แบงก์ที่ระบุว่าค่าตอบแทนโดยเฉลี่ยในกรุงจาการ์ตาต่ำกว่าเมืองแถบชายฝั่งตะวันออกของจีนถึง 60%

สอดคล้องกับความเห็นของ เหว่ยจางกิต นักเศรษฐศาสตร์อาเซียนจากธนาคารซิตี้แบงก์ที่ระบุว่า นอกเหนือจากค่าแรงที่อาเซียนถูกกว่าจีนแล้ว ภูมิภาคอาเซียนยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่น่าสนใจและดึงดูดนักลงทุนอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าที่ดิน ค่าไฟ รวมถึงปัจจัยการผลิตอื่นๆ ที่ถูกกว่า จึงกล่าวได้ว่าเมื่อเทียบปอนด์ต่อปอนด์แล้ว อาเซียนน่าสนใจกว่าจีนหลายช่วงตัว โดยเฉพาะต้นทุนที่นอกเหนือจากค่าแรงที่เหนือกว่ากันมาก

ถึงกระนั้น แม้ว่าการขึ้นค่าแรงจะส่งผลและเป็นสิ่งที่ประเทศต่างๆ ในย่านอาเซียนไม่สามารถจะหลีกหนีความจริงนี้ได้แล้ว

แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลและภาคเอกชนควรคิดต่อไปให้ดีก็คือ จะทำเช่นไรให้การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ก่อให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจและความก้าวหน้าของประเทศให้มากที่สุด โดยเฉพาะการที่รัฐบาลจะต้องเสริมศักยภาพและความสามารถของแรงงานให้ควบคู่ไปกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะเดียวกันภาคเอกชนก็จะต้องมองประโยชน์ที่จะได้ในระยะยาว ไม่ใช่มองแค่ว่าเป็นเพียงการทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น

ที่มา : Post Today. Last update : 12/7/2012 2:03:27 PM

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น