‘วัฒนธรรมหินตั้งบ้านวังประจบ จ.ตาก : พิธีกรรมการทำกล่องหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย’
เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2555 อาจารย์ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เดินทางไปสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีนายเสียน ที่ตำบลวังประจบ อำเภอเมือง จังหวัดตาก ทำให้ได้ข้อมูลอันน่าสนใจว่าที่นี่เป็นแหล่งโบราณคดีแห่งที่สองที่ค้นพบวัฒนธรรมการทำหินตั้ง (Menhir) กับพิธีกรรมการทำกล่องหิน (slab stone box) โดยเขียนไว้ในบทความ ‘วัฒนธรรมหินตั้งบ้านวังประจบ จ.ตาก : พิธีกรรมการทำกล่องหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย’ ระบุว่า
แหล่งโบราณคดีนายเสียนมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งหินตั้งและการประกอบพิธีกรรมการทำกล่องหินที่มีขนาดพื้นที่แหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีพื้นที่ประมาณ 75x30 เมตร ตั้งอยู่บนที่ลาดเชิงเขา ปราศจากการรบกวนจากกิจกรรมของคนในปัจจุบัน จากการสำรวจบนพื้นผิวดินพบแนวกล่องหินมากกว่า 20 จุด และพบการเรียงหินตั้งอีกหลาย 10 จุด
ด้วยความน่าสนใจดังกล่าว จึงทำการขุดค้นจำนวน 2 หลุมคิดเป็นพื้นที่ 60 ตารางเมตร แต่ปรากฏว่ากลับพบกล่องหินในหลุมขุดค้นมากถึง 15 กล่อง และหินตั้งอีก 1 กลุ่ม ซึ่งหินตั้งนี้เป็นเสมือนกับหมุดหมายที่บอกตำแหน่งของกล่องหินและเป็นเหมือนกับแท่งหินบูชากล่องหิน สำหรับกล่องหินนั้นคือพิธีกรรมการเอาแผ่นหินฟิลไลท์ (phyllite) ขนาดเล็กใหญ่ขัดจนเรียบมาเรียงต่อกันเป็นกล่องหินรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับโลงศพ วางในแกนทิศตะวันออก-ตกเสมอ
การขุดเปิดกล่องหินจำนวน 4 กล่องภายในไม่พบโครงกระดูกมนุษย์ พบเพียงภาชนะดินเผาที่นำมาวางที่หัวกับท้ายและมีสภาพจงใจทุบให้แตก และยังพบชิ้นส่วนกำไลหินที่ตั้งใจทำลายเช่นกัน อาจเป็นไปได้ว่าเป็นพิธีกรรมการฝังศพครั้งที่หนึ่ง (Primary burial)
ส่วนกลุ่มหินตั้งพบว่าเป็นการปักหินจำนวนหลายแผ่นหลายก้อนล้อมรอบหินตรงกลางที่มีรูปร่างคล้ายกับเสา
การกำหนดอายุสมัยอาศัยการเทียบเคียงกับอายุของแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบคือราว 2,500-3,000 ปีมาแล้ว ตกอยู่ในช่วงหินใหม่ตอนปลายต่อยุคโลหะ
ทั้งนี้ จากการสำรวจหลักฐานบนพื้นผิวดิน และขุดค้นข้างต้น คาดการณ์ว่าพื้นที่แหล่งโบราณคดีนายเสียนน่าจะมีกล่องหินที่ฝังอยู่ใต้ดินอีกประมาณ 100 กล่อง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงแหล่งโบราณคดีนายเสียนจะเป็นแหล่งพิธีกรรม (Ritual site) ที่มีการทำหินตั้งกับกล่องหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และน่าสนใจมากในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งควรต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์กันอีกมากก่อนที่จะนำไปสู่ข้อสรุปในการตีความหมายของพิธีกรรมโบราณนี้เพื่อให้เกิดความถูกต้องมากที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น