วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

>> ผ่านพ้นไปแล้ว การประมูลคลื่น 3G (2.1GHz) เพื่อคนไทยได้ใช้ 3G มาตรฐานโลก

16 ต.ค. ประมูลคลื่น 3G (2.1GHz) ผ่านพ้นไปเรียบร้อย ท่ามกลางความความขัดแย้งทางความคิดสุดขั้วแบบไทยๆ ทั้งก่อนหน้าและหลังการประมูล
ติดตามข่าวเรื่องคลื่น 3G ตั้งแต่มีใช้ในลาว ในกัมพูชา ฯลฯ ในความเคลื่อนไหวที่นิ่งสนิท เต็มไปด้วยปัญหาทางกฎหมายของประเทศไทยแลนด์แดนศิวิไลซ์  ส่วนความฝันเรื่อง 4G นั้น ไม่มีแม้กระทั่งแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ประเทศไทยเราเต็มไปด้วยผู้รู้ นักวิชาการที่ฉลาดเลิศเลอ สื่อมวลชนที่เมามันในอารมณ์ อุดมไปด้วยความถูกต้องแต่เพียงผู้เดียว สูงส่งด้วยคุณธรรม จริยธรรม 

ในแต่ละเรื่องมีหลายองค์ประกอบ เหรียญมีหลายด้าน มุมมองก็มีหลายมุมมอง ทำไมไม่คิดถึงผลประโยชน์ของประชาชน ผู้บริโภคก็คือประชาชน ถึงวันนี้ยังมองผู้ประกอบการ พ่อค้า เป็นผู้ร้ายในสายตา แล้วประเทศนี้ก็เป็นได้แค่ไก่จิกกันอยู่ในสุ่ม  ทำไมไม่คิดกันไกลๆ มากกว่าคิดได้แค่ปัญหาทางเทคนิค ปัญหาผลตอบแทนของรัฐ เมื่อประมูลกันได้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นในประเทศนี้ เม็ดเงินลงทุนในโครงการ เฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 3 ปี เม็ดเงินก็ไม่ต่ำแสนล้านแล้ว มูลค่าทางธุรกิจการสื่อสาร โทรคมนาคมที่จะเพิ่มขึ้น การพัฒนาเนื้อหาใหม่ๆ เพื่อรองรับคลื่น 3G การตลาด ผู้ประมูลได้ 3 ราย จะยอมร่วมหัวจมท้ายฮั้วบริการกันตลอดไปได้หรือ  ฯลฯ

หรือนี่คืออัตลักษณ์นักวิชาการไทย มันเป็นแบบนี้ทุกวงการ แม้กระทั่งวงการราชการ ต่างจากนักธุรกิจที่ประนีประนอมมากกว่า หูไว ตาไว เรียนรู้ตลอดเวลา สมองคิดหาทางพัฒนางานตลอดเวลา ยืดหยุ่นได้ทุกนาทีตามสภาวะแวดล้อม สถานะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของธุรกิจ พบเจอคำอธิบายเรื่อง การสร้างศักยภาพของธุรกิจ หรือ Business Competency นั่งมองแล้วคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย คิดรุกหรือคิดรับ อนิจา...น้ำลายจากลมปากคนฉลาด...ท่วมประเทศไทย
เทคโนโลยี 3G นั้น สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ( International Telecommunication Union – ITU ) ได้กำหนดให้คลื่น 2.1GHz เป็นคลื่นความถี่สากลสำหรับใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G โดยเฉพาะตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้เครื่องโทรศัพท์มือถือที่รองรับ 3G ทั้งหมดที่ผลิตออกมาจะรองรับคลื่น 2.1GHz เป็นหลัก ถึงจะรองรับคลื่นอื่นๆ ต่างกันออกไป

เหตุผลสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือทุกวันนี้ประเทศไทยมีคลื่น 2.1GHz ส่วนนี้ว่างอยู่ถึง 45MHz การปล่อยให้คลื่นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเหล่านี้ว่างไว้โดยไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศนั้น มันช่างน่าเสียดาย 

การจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ นั้นยังสามารถแก้ไขปัญหาโทรศัพท์เคลื่อนที่สายหลุด ไม่มีสัญญาณ สัญญาณขาดๆ หายๆ ความเร็วในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตช้า เนื่องจากโครงข่ายสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่มีความถี่ไม่พอใช้งาน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากปริมาณคลื่นที่ไม่สมสัดส่วนกัน เช่นผู้ให้บริการบางรายมีผู้ใช้บริการมากมากหลายล้านราย แต่กลับมีคลื่นความถี่ในการให้บริการอยู่น้อย ทำให้ผู้ใช้จำนวนมากกระจุกอยู่ในคลื่นแคบๆ ที่รองรับผู้ใช้ได้น้อย ขณะที่ผู้ให้บริการบางรายนั้นมีผู้ใช้งานเพียงไม่กี่แสนราย แต่กลับมีคลื่นความถี่ในการให้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการจัดสรรคลื่นให้มากขึ้นให้กับผู้ให้บริการที่มีผู้ใช้มาก จะทำให้ประชาชนได้รับคุณภาพบริการที่ดีขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาข้างต้นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้อย่างถาวร

ทุกวันนี้ระบบโทรคมประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเป็นระบบสัญญาสัมปทานโดยเอกชนเป็นผู้วางโครงข่ายให้กับรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลแล้วเข้าบริหารโครงข่ายเหล่านี้ในช่วงเวลาที่กำหนดโดยแบ่งเงินส่วนแบ่งรายได้ให้ การประมูลครั้งนี้จึงถือเป็นการพลิกโฉมวงการการโทรคมนาคมของประเทศไทเปลี่ยนผ่านจากยุคผูกขาดด้วยระบบสัมปทานไปสู่ระบบการให้ใบอนุญาตเป็นครั้งแรก โดยผู้ชนะการประมูลจะได้รับใบอนุญาตโดยตรง ลดการจ่ายส่วนแบ่งรายได้เป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและเงินเข้ากองทุน USO ที่จะนำไปใช้เพื่อพัฒนาโอกาสและความเท่าเทียมทางการสื่อสารให้คนไทยทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจน แม้จะอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารเพียงใดก็สามารถเข้าถึงการสื่อสารเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และเงินที่ได้จากการประมูล 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz ในครั้งนี้ จะถูกนำส่งเข้ารัฐ (ผ่านกระทรวงการคลัง) เพื่อให้จัดเก็บเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินสำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้าน อื่นๆต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น