นักคิดจำนวนมากพยายามค้นหาวิธีการออกจาก “กับดัก” นี้ และให้ข้อเสนอว่า เงื่อนไขสำคัญในการออกจาก “กับดัก” นี้นั้น ภาคธุรกิจต้องมีผลิตภาพการผลิตที่สูง (High Productivity) และมีนวัตกรรมในการผลิต ขณะเดียวกัน ต้องสร้างตลาดภายในให้เข้มแข็ง โดยทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความสามารถพอที่จะซื้อสินค้าที่มีคุณภาพสูงได้ เงื่อนไขพื้นฐานเหล่านี้เป็นกุญแจเปิดไปสู่การเป็นประเทศ “ร่ำรวย”
มีประเทศในเอเชียหลายประเทศสามารถไปบรรลุเงื่อนไขพื้นฐานและหลุดออกจาก “กับดัก” อันนี้ไปได้ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ แต่ในกรณีของอาเซียนหลายประเทศยังติดอยู่ในกับดักนี้ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย
ในสถานการณ์ที่หลายๆ ประเทศในอาเซียนกำลังดิ้นรนออกจาก “กับดัก” ของประเทศรายได้ปานกลาง ไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ผมคิดว่า ประเทศที่ดูจะมีโอกาสมากที่สุดตอนนี้ไม่ใช่ประเทศไทย แต่เป็น ประเทศมาเลเซีย
รัฐบาลมาเลเซียตั้งใจจะออกจากกับดักนี้ โดยได้ประกาศแผนปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (Economic Transformation Program) ในปลายปี 2010 หนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของการปฏิรูปครั้งนี้คือ จะก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง และต้องทำให้รายได้ประชาชาติต่อคนต่อปีที่ของคนมาเลเซียสูงกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020
ปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจของมาเลเซียมาอยู่ที่ประมาณ 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแม้จะเล็กกว่าขนาดเศรษฐกิจไทย แต่มาเลเซียมีประชากรเพียง 28 ล้านคน และเมื่อคำนวณจากรายได้ประชาชาติต่อคนต่อปีพบว่า รายได้ประชาชาติต่อคนต่อปีของมาเลเซียอยู่ที่ประมาณ 9,000 ดอลลาร์สหรัฐ ของไทยเราอยู่ที่เพียงประมาณ 5,200 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ตลอดทศวรรษนี้เศรษฐกิจของมาเลเซียจะต้องเติบโตที่ 6% ต่อปี จึงจะบรรลุเป้าหมายได้
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของมาเลเซียในการไปสู่เป้าหมายครั้งนี้ สรุปย่อคือ การเลือกให้การสนับสนุนด้านต่างๆ แก่อุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศมาเลเซีย และอุตสาหกรรมที่มีความสามารถทางการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน ปาล์มน้ำมัน บริการทางการเงิน การท่องเที่ยว บริการสำหรับธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับโทรคมนาคม เป็นต้น โดยที่การปฏิรูปครั้งนี้จะเกิดบนพื้นฐานของการส่งเสริมการเปิดเสรีและเพิ่มการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เข้มข้นขึ้น (Economic Liberalization)
เห็นได้ว่า ไม่มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ผลิตของราคาถูกและใช้แรงงานราคาถูก อุตสาหกรรมที่ถูกส่งเสริมจะเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการจัดการสมัยใหม่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้สูงมาก
และเพื่อรองรับการปฏิรูปเศรษฐกิจ มาเลเซียยังได้เร่งลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นประเทศที่ลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาสูงเป็นอันดับที่สองของอาเซียน เมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ แน่นอนว่าอันดับที่หนึ่งคือสิงคโปร์
ผลจากการมีการลงมือปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ทั้งยังได้ออกกฎหมายใหม่เพิ่มเพื่อรองรับการแข่งขันที่เสรี ด้วยเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น บรรยากาศการลงทุนของมาเลเซียเป็นไปด้วยคึกคัก สังเกตได้จาก แม้ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจมาเลเซียจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจยุโรป เศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐ รวมทั้งการสะดุดของระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) จากแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นและน้ำท่วมในไทย แต่การลงทุนภาคเอกชนของมาเลเซียยังเพิ่มขึ้นถึง 10.2%
ที่สำคัญเศรษฐกิจมาเลเซียเติบโตได้ถึง 7% ในปี 2010 และเติบโต 5.1% ในปี 2011 ซึ่งยังอยู่ในเป้าหมายของรัฐบาลมาเลเซียที่ต้องการให้เศรษฐกิจโต 6% ต่อปี
มากไปกว่านั้น การจัดอันดับความสะดวกในการเข้าไปดำเนินธุรกิจของแต่ละประเทศโดยธนาคารโลก ซึ่งวัดจากตัวชี้วัดด้านการประกอบธุรกิจ 10 ตัว เช่น การหาสินเชื่อในการลงทุน ระบบการชำระภาษี การคุ้มครองนักลงทุน พบว่าอันดับของมาเลเซียปรับตัวดีขึ้นจากที่ 23 ในปี 2010 มาเป็นอันดับที่ 18 ในปี 2011
ขณะที่การสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อประเทศต่างๆ โดย บริษัท เอที เคอร์นี่ ในปี 2012 พบว่า มาเลเซียได้รับคะแนนสูงเป็นอันดับที่ 10 ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 16
และจากรายงานความสามารถทางการแข่งขันของ 142 ประเทศ โดย ดับเบิลยูอีเอฟ (World Economic Forum) เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน ประเทศมาเลเซียมีระดับความสามารถทางการแข่งขันสูงเป็นอันดับที่สองของอาเซียน เป็นรองเฉพาะสิงคโปร์ และมีอันดับที่ดีกว่ากว่าไทยถึงกว่า 10 อันดับ
โดยสรุป การปฏิรูปเศรษฐกิจของมาเลเซียครั้งนี้ ทำขึ้นบนฐานการศึกษาและรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง โดยการริเริ่มของภาครัฐ และความร่วมมือของภาคเอกชนและประชาชนมาเลเซีย เหนือสิ่งอื่นใด มีการดำเนินการปฏิรูปอย่างจริงจัง ผลระยะสั้นที่ปรากฎออกมาถือว่าดีมาก ดังนั้น โอกาสที่มาเลเซียจะบรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปจึงมีความเป็นไปได้สูง
หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1957 เพียง 55 ปี แห่งการพัฒนา เศรษฐกิจของมาเลเซียได้เดินแซงหน้าเศรษฐกิจไทยไปมากแล้ว และกำลังจะก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคตอันใกล้ ผมหวังว่า เมื่อได้เห็นความสำเร็จของมาเลเซียเช่นนี้ คงเป็นแรงกระตุ้นให้คนไทยเราตื่นตัวเพิ่มมากขึ้นบ้าง
ที่มา : วันวลิต ธารไทรทอง, สถาบันระหว่างประเทศและการพัฒนา ITD
ชื่อบทความเดิม “มาเลเซีย โอกาสหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางก่อนไทย”
http://www.siamintelligence.com/chance-of-malaysia-to-escape-from-middle-income-trap-before-thai/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น