จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกสับปะรด ทำให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีการเพาะปลูกสับปะรดมากที่สุดในประเทศ จากการปลูกสับปะรดเพื่อขายผลสดในประเทศในอดีต จนมีปริมาณมาก เกินความต้องการของตลาด จนนำไปสู่ การปลูกเพื่อส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อการแปรรูป ซึ่งสามารถรองรับผลผลิตได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกษตรกร มีการเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามโรงงานแปรรูปที่เกิดขึ้น
ปี พ.ศ. 2528 เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด นอกจากจะประสบปัญหา ภัยธรรมชาติในการทำการเกษตรในอดีตเหมือนกับพืชอื่นๆ แล้ว ปัญหาผลผลิตสับปะรดที่มีมาก เกินความต้องการของโรงงานแปรรูป และตลาดบริโภคในประเทศ ส่งผลทำให้เกษตรกรชาวไร่สับปะรด ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก การส่งสับปะรดเข้าขายโรงงานแปรรูป เกษตรกร ส่วนใหญ่ไม่มีโควต้า กับโรงงานต้องผ่านคนกลาง หรือที่เรียกว่า แผงรับซื้อสับปะรด ซึ่งในขณะนั้นโรงงานรับซื้อสับปะรด กิโลกรัมละ 1.10 บาท แต่แผงรับซื้อจากเกษตรกรเพียงกิโลกรัมละ 30 สต. และยังมีสับปะรดอีกส่วนหนึ่งไม่มีโควต้า ต้องรอจนเน่าและต้องทิ้งเกิดความเสียหายขาดทุน ด้วยเหตุนี้ ชาวไร่สับปะรดในเขตพื้นที่ตำบลไร่เก่าในขณะนั้น ได้มีการรวมกลุ่มกันปรึกษาหารือ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา การประกอบอาชีพทำไร่สับปะรด โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มชาวไร่สับปะรดบ้านไร่เก่าขึ้น มีสมาชิก 26 คน และรวมหุ้นได้จำนวนเงิน 260,000 บาท โดยมี นายพิบูลย์ สุกิจปาณีนิจ เป็นประธานกลุ่ม และนาย สุรัตน์ มุนินทรวงศ์ เป็นผู้จัดการกลุ่ม และได้รับความอนุเคราะห์ที่ทำการสำนักงาน ซึ่งเป็นอู่จอดรถของนายขวัญชัย วัฒนากร ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอีกท่านหนึ่ง โดยได้ปรับปรุงเป็นสำนักงานและอาคารทำการรวบรวมสับปะรดจากสมาชิกส่งเข้าโรง งานเรื่อยมา และต่อมาได้รับคำแนะนำจากหน่วยงานของทางราชการ ให้มีการรวมตัวกันจัดตั้งในรูปแบบของสหกรณ์ เพื่อรองรับการบริหารงานที่จะเติบโตในอนาคต รวมทั้งเป็นการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
10 กุมภาพันธ์ 2529 ได้มีการประชุมเกษตรกรชาวไร่สับปะรด เพื่อเข้าชื่อขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ ณ หอประชุมมูลนิธิสว่างเมธีธรรมสถาน ตำบลไร่เก่า โดยมีนายวิชัย บุญนาค นายอำเภอปราณบุรี และนายประทิน ศุภนคร สหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในขณะนั้นเป็นผู้ให้แนวทางและร่วมจัดตั้ง
7 เมษายน 2529 กลุ่มได้รับการจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ ประเภทสหกรณ์การเกษตร โดยใช้ชื่อว่า “สหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด จำกัด” และได้เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 โดยใช้สำนักงานที่ทำการเดิม และได้รับเงินสนับสนุนจากกลุ่มชาวไร่สับปะรดบ้านไร่เก่าที่มอบให้ เพื่อทำการปรับปรุง และจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงาน จำนวนเงินทั้งสิ้น 150,000 บาท
สหกรณ์มีสมาชิกแรกตั้ง 269 ราย ทุนเรือนหุ้น 1,000,600 บาท มีคณะกรรมการ 15 ท่าน โดยมี นายพิบูลย์ สุกิจปาณีนิจ เป็นประธานคณะกรรมการท่านแรกของสหกรณ์ และมีเจ้าหน้าที่จำนวน 3 อัตรา ประกอบไปด้วย ผู้จัดการ การเงิน และบัญชี ในปีแรกของการดำเนินงาน สหกรณ์ได้ดำเนินธุรกิจที่เป็นการช่วยเหลือชาวไร่โดยการเป็นคนกลางในการรวบ รวมผลผลิตสับปะรดจากสมาชิกส่งเข้าโรงงานแปรรูป มีปริมาณถึง 56,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 137 ล้านบาทเศษ รวมทั้งได้นำสินค้าปัจจัยการผลิตปุ๋ยยาเคมีการเกษตร มาบริการและจำหน่ายให้กับสมาชิกเป็นเงินถึง 3 ล้านบาทเศษ และหลังจากนั้นช่วงระยะเวลาอีก 2 ปีเศษ ธุรกิจสหกรณ์ได้เติบโตขึ้นเป็นลำดับ ทั้งการรวบรวมสับปะรดส่งโรงงาน และจัดหาปัจจัยการผลิตปุ๋ยยาเคมีการเกษตร สร้างความพึงพอใจและความเชื่อมั่นให้กับสมาชิก ตลอดจนผู้ที่ร่วมทำธุรกิจกับสหกรณ์ ทำให้พื้นที่สหกรณ์ที่ดำเนินงานอยู่ไม่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจและให้ บริการแก่สมาชิก
ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2531 สหกรณ์ได้ใช้เงินที่ได้กำไรสะสม จากการดำเนินงานสหกรณ์ ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ซื้อที่ดินจำนวน 11 ไร่เศษ และได้ทำการปรับปรุงพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนด้านเครื่องจักรกล จากศูนย์ช่างสหกรณ์ที่ 8 หุบกะพง โดยมีมูลค่าที่ดินที่ซื้อและถมเสร็จ รวมเป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาทเศษ และได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารคลังสินค้า และสำนักงานอยู่ในอาคารเดียวกันโดยใช้เงินทุนของสหกรณ์เอง มีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 1,500,000 บาท
วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2532 เป็นวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 5 ของสหกรณ์ พร้อมกับโอกาสนี้ สหกรณ์ได้จัดให้มีพิธีเปิดอาคารสำนักงานและคลังสินค้าแห่งใหม่ขึ้น โดยมี ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอุดมศักดิ์ ทั่งทอง ซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะนั้น ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารหลังใหม่แห่งนี้
การดำเนินงานของสหกรณ์เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากผู้รวบรวมสับปะรดส่งโรงงาน โควต้ารายใหญ่ในเขตพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่ใกล้เคียง ปีละ 1 แสนตันเศษ และมีบทบาทในการต่อรองราคา จนทำให้สมาชิกและเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการซื้อขายสับปะรดที่ได้รับมูลค่า เพิ่มขึ้นจำนวนมาก และอีกบทบาทหนึ่งของการเป็นผู้แทนเกษตรกรในเวทีต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาเรื่องสับปะรดของชาวไร่สับปะรด ที่มักจะมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ นอกจากการดำเนินงานและดำเนินธุรกิจหลักๆ แล้ว สหกรณ์ยังมีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
6 มกราคม 2533 สหกรณ์ได้ใช้พื้นที่ด้านหน้าที่ว่างอยู่ เปิดเป็นตลาดนัดซื้อขายสินค้าพืชผักผลไม้ ของกินของใช้ ทุกๆ วันเสาร์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพ และอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิก เกษตรกร และชุมชนใกล้เคียง
จากความจำเป็นด้านการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงด้านการเกษตรของสมาชิก และด้านอื่นๆ 20 มิถุนายน 2536 สหกรณ์ได้เปิดให้บริการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดย่อม จำหน่ายน้ำมันดีเซลเป็นชนิดแรก ให้บริการแก่สมาชิก และเกษตรกร ตลอดจนลูกค้าที่ผ่านไปมา โดยการจำหน่ายน้ำมันราคาถูก และเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง จนทำให้สหกรณ์สามารถจำหน่ายน้ำมันได้สูงสุดถึงเดือนละ 1 ล้านลิตรใ นขณะนั้นและได้มีการนำเอาน้ำมันชนิดต่าง ๆ เข้ามาบริการจนครบถ้วนในปัจจุบัน
จากการดำเนินธุรกิจจัดหาสินค้าปุ๋ย ยา เคมี และวัสดุการเกษตร ของสหกรณ์ที่เติบโตไม่หยุดยั้ง ด้วยการพัฒนาบุคคลากรให้เป็นมืออาชีพทางธุรกิจและได้รับการยอมรับ ตลอดจนได้รับการไว้วางใจจากสมาชิกและเกษตรกร จนทำให้ร้านค้าที่รับสินค้าจากสหกรณ์ไปจำหน่าย มากกว่า 20 ร้านค้า ทั่วทั้งพื้นที่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงการเชื่อมโยงธุรกิจสินค้ากับกลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์ต่างๆ อีกทั้งยังได้รับการยอมรับจากบริษัทผู้ผลิต และผู้ค้าชั้นนำ ให้สหกรณ์เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าชนิดต่างๆ ด้วยดีตลอดมา
วันที่ 15 พฤษภาคม 2551 สหกรณ์ได้ฤกษ์เปิดร้านค้าปุ๋ยยาเคมีการเกษตรหลังใหม่ ที่ให้บริการสินค้าที่ครบถ้วน รวมถึงการให้บริการแก่สมาชิกและเกษตรกรที่มาใช้บริการ ได้รับความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงรองรับกับผู้ใช้บริการที่มีเพิ่มมากขึ้น เปิดบริการทุกวันไม่มีวันหยุด ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น ด้วยเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้และมากด้วยประสบการณ์
จากการติดตามและเห็นการเปลี่ยนแปลงการประกอบอาชีพของสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้สหกรณ์เข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจในพื้นที่
ปี 2547 สหกรณ์ได้ดำเนินการผลิตต้นกล้ายางพารา เพื่อให้ได้ต้นกล้าพันธุ์ที่ดีและได้มาตรฐาน จำหน่ายให้กับสมาชิกและเกษตรกรที่สนใจเพื่อนำไปปลูก จากแนวคิดในการส่งเสริมการปลูกยางพารา สหกรณ์ได้เล็งเห็นว่า การเพาะปลูกสับปะรดซึ่งเป็นอาชีพหลักของสมาชิกสหกรณ์ และเป็นการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวในปริมาณที่มากมายาวนาน ก่อให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆ อาทิเช่น ผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ ปัญหาด้านแรงงาน ปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่เสื่อมโทรมจากการเพาะปลูกพืชซ้ำแบบเดิมๆ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และรายได้ของสมาชิก และครัวเรือน การปลูกยางพาราแซมในพื้นที่สับปะรด เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สหกรณ์ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกหันมาปลูกเพิ่มขึ้น เพื่อลดปริมาณผลผลิตสับปะรดที่มาก จนบางช่วงล้นตลาด และการปลูกยางพารายังเป็นการส่งเสริมความสมดุลให้กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่สับปะรดส่วนใหญ่ไม่มีป่าไม้ยืนต้น จากการส่งเสริมการปลูกยางพารา สหกรณ์ได้ให้การอบรมและความรู้ แก่สมาชิกและเกษตรกรมาโดยตลอด
วันที่ 18 สิงหาคม 2553 สหกรณ์ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ดำเนินการเปิดตลาด รองรับผลผลิตยางพาราจากสมาชิกเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้จัดตั้งเป็นตลาดกลางในการซื้อขาย ในลักษณะตลาดประมูล โดยใช้ชื่อว่า “ตลาดประมูลยางพารา สกย. ประจวบคีรีขันธ์” ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด จำกัด โดยมีสมาชิกและเกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้นำผลผลิตยางเข้าสู่ตลาดรวบรวมและประมูล
ปัจจุบัน ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2554 ตลาดแห่งนี้สามารถรวบรวมยางไปแล้วทั้งสิ้น 1,500 ตัน มูลค่า 172 ล้านบาท และคาดว่าจะเป็นตลาดกลางประมูลของประจวบคีรีขันธ์ ที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในอนาคต
ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่สหกรณ์ได้เข้าไปมีบทบาท และส่งเสริมการปลูกให้กับสมาชิกและเกษตรกร โดยสหกรณ์ได้ดำเนินการผลิต ต้นกล้าปาล์มน้ำมันที่ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อจำหน่ายให้กับสมาชิกและเกษตรกร ตลอดจนการอบรมให้ความรู้ การดูแลรักษาสวนปาล์ม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี และการศึกษาดูงานด้านการผลิตปาล์มน้ำมันจากแหล่งที่สำคัญ ทั้งในและต่างประเทศ
ร้านไพน์แอปเปิ้ลมินิมาร์ท เปิดให้บริการสมาชิกและผู้ใช้บริการโดยทั่วไป ที่เข้ามาใช้บริการจากสหกรณ์ ได้รับความสะดวกเพิ่มมากขึ้น
ด้านการส่งเสริมอาชีพให้สมาชิกและเกษตรกร
สหกรณ์ได้มีการจัดตั้งกลุ่มย่อยในด้านการผลิตพืชชนิดต่างๆ และผลิตภัณฑ์ของสมาชิกและเกษตรกร โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการรวมตัวกันในการผลิตและการจำหน่าย ซึ่งมีสหกรณ์เป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนในด้านองค์ความรู้ การบริหารจัดการและเงินทุน
1. จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรดแฟร์เทรด โดยส่งเสริม การผลิต การแปรรูป การตลาดสับปะรดอย่างครบวงจร จนได้รับการรับรองมาตรฐานการค้าที่เป็น ธรรมจากองค์กรระหว่างประเทศภาคพื้นยุโรป
2. จัดตั้งและส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มชาวนาสามร้อยยอด โดยได้ดำเนินการ ส่งเสริม การผลิตข้าวที่ได้คุณภาพ สนับสนุนปัจจัยการผลิต ดำเนินการจัดตั้งตลาดในการซื้อขายข้าว รวมถึงการดำเนินงานด้านต่างๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชาวนาได้เป็นอย่างดียิ่ง
3. ส่งเสริมด้านการผลิตและการตลาด วิสาหกิจชุมชนปุ๋ยน้ำชีวภาพ และปุ๋ยหมักตำบลไร่เก่า เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สมาชิก และเกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยที่ดีราคาถูก ซึ่งผลิตขึ้นเองในชุมชน โดยการนำเอาหอยเชอร์รี่มาเป็นวัตถุดิบในการหมักปุ๋ย และยังเป็นการกำจัดหอยเชอร์รี่ซึ่งเป็นศัตรูทำลายข้าว
4. จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อทดแทนพลังงาน จ. ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน ตลอดจนเป็นการจัดหา ตลาดขายผลผลิตให้กับสมาชิกและเกษตรกร ให้ได้ราคาที่ดีและคุ้มกับต้นทุนการผลิต
5. จัดตั้งและพัฒนากลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชาวสวนยางได้มีการรวมตัวกันในการประกอบอาชีพ และรวมถึงการพัฒนาในด้านต่างๆ ตลอดจนการรวมกันที่จะขายผลผลิต
6. จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตอ้อยแฟร์เทรด โดยมีเป้าหมายที่จะแปรรูปอ้อยเป็น น้ำตาล ทราย โดยความร่วมมือกับโรงงานอุตสาหกรรม ในการที่จะขายน้ำตาลทรายที่เป็นผลิตภัณฑ์ของสมาชิกกลุ่มที่ได้รับการรับรอง มาตรฐานแฟร์เทรด จากประเทศเยอรมันนี ไปสู่ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
7. สนับสนุนและดำเนินงานให้กับกลุ่มผู้ปลูกสับปะรดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย
ด้านการจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับสมาชิก
เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ และสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดี ได้จัดสรรกำไรสุทธิในแต่ละปี รวม 1,400,000 บาทเศษ เป็นกองทุนสวัสดิการในด้านต่างๆ ให้แก่สมาชิก อาทิเช่น ทุนรับขวัญบุตรแรกเกิด ทุนสวัสดิการผู้สูงอายุ ทุนสวัสดิการการศึกษาบุตร ทุนสวัสดิการช่วยเหลือเงินกรณีเสียชีวิต และทุนอื่นๆ ที่จะจัดให้มีขึ้นในอนาคต
ด้านการมีส่วนร่วมและช่วยเหลือสังคม
สหกรณ์ได้ตระหนักถึงการที่สหกรณ์เป็นส่วนหนึ่งในสังคม จึงได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมและสนับสนุน ในด้านกิจกรรมและการมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม อาทิเช่น
- การจัดงานธงฟ้า สินค้าราคาประหยัด ร่วมกับสำนักงานการค้าภายในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นช่วยเหลือค่าครองชีพของสมาชิก และคนในชุมชน ซึ่งมีการจัดงานติดต่อกันมาเป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งส่งผลให้คนในชุมชนได้รับประโยชน์อย่างมากมาย
- การมีส่วนร่วมและสนับสนุนการจัดงานมะม่วงและของดีสามร้อยยอด เพื่อเป็นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นที่รู้จักของตลาด
- ร่วมและสนับสนุนงานประเพณีท้องถิ่นต่าง ๆ อาทิเช่น งานไทยทรงดำ งานทิ้งกระจาด หรือการบริจาคทานให้แก่ผู้ยากจน
- เป็นเจ้าภาพในการจัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติ ปี 2550 เป็นการรวมขบวนการสหกรณ์ในการร่วมกันในการจัดงาน เพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในวันสหกรณ์ และประชาสัมพันธ์ขบวนการสหกรณ์ให้เป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอก
- บริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ เพื่อเป็นการเอื้ออาทร และแสดงความเห็นอกเห็นใจในกรณีที่ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน
- บริจาคเงินทุนการศึกษา เลี้ยงอาหารกลางวัน และมอบอุปกรณ์การเรียนและการศึกษาแก่เด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสทางสังคม
ด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
สหกรณ์ได้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงในด้านธรรมชาติต่างๆ จึงได้มีการรณรงค์และร่วมทำกิจกรรมในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับในด้านสิ่งแวดล้อม
- การปลูกปะการัง เพื่อคืนธรรมชาติสู่ท้องทะเล
- อนุรักษ์แหล่งน้ำ เพื่อการใช้สอยทางด้านการเกษตร
- การปลูกป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับธรรมชาติ
- การรับซื้อคืนขวดบรรจุสารเคมี เพื่อนำไปใช้บรรจุต่อ เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะพิษ และสารเคมีที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม
และนอกจากนี้ สหกรณ์ได้มีการจัดซื้อที่ดิน ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับสำนักงานแห่งนี้ เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 22 ไร่เศษ เพื่อรองรับกับการขยายงานและการดำเนินธุรกิจที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกและเกษตรกรในอนาคต
“เป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนา สนับสนุนการผลิตและการตลาด
พืชผลการเกษตรระดับจังหวัด บริการที่เป็นเลิศและโปร่งใส
ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม”
ที่มา : สหกรณ์ชาวไร่ผู้ปลูกสับปะรดสามร้อยยอด จำกัด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น