เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2555 สหกรณ์การเกษตรบ้านตาก จำกัด ได้รับมอบใบประกาศเกียรติคุณผู้เข้าร่วมโครงการมาตรฐาน GMP และ HACCP จากนายสมชาติ สร้อยทอง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ที่โรงแรมริชมอนด์ อ.เมือง จ.นนทบุรี ในงานนี้มี “ชูชีพ โภคา” ประธานกรรมการ นำกรรมการ และผู้จัดการสหกรณ์หนุ่มใหญ่ไฟแรง “ณรงค์ ชัยแก้ว” เดินทางไปรับมอบใบประกาศเกียรติคุณฯ แล้วเข้าร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ประกอบการค้าข้าวทั่วประเทศ
ในเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ณรงค์ ชัยแก้ว” ได้รับเกียรติจากกรมการค้าภายใน ให้เป็นตัวแทนผู้ประกอบการค้าข้าว ขึ้นอภิปรายแสดงความคิดเห็นบนเวทีสัมมนาเรื่อง “มุมมองในการจัดทำระบบมาตรฐาน GMP/HACCP” ร่วมกับ บริษัท โนวเลจด์ เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้ดำเนินการจัดวางระบบมาตรฐาน GMP และ HACCP หลังจากนั้นรองอธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เรียนเชิญให้ไปรับประทานอาหารร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติม นับได้ว่าสหกรณ์ได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้บริหารระดับสูงของกรมการค้าภายในให้ความสนใจในความคิดเห็นของสหกรณ์ จึงขอขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้
GMP มีเนื้อหาคลอบคลุม 6 ประการ คือ
1. สุขลักษณะของสถานที่ตั้งและอาคารผลิต
2. เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ ที่ใช้ในการผลิต
3. การควบคุมกระบวนการผลิต
4. การสุขาภิบาล
5. การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด
6. บุคลากร
HACCP เป็นมาตรฐานการผลิต ที่มีมาตรการป้องกันอันตราย ที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการบริโภคอาหาร
ระบบ HACCP มีความสำคัญต่อประเทศไทย ในฐานะเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลก
HACCP หรืออาจอ่านว่า แฮซเซป เป็นตัวย่อจากคำภาษาอังกฤษที่ว่า Hazard Analysis Critical Control Point ซึ่งหมายถึงการวิเคราะห์อันตราย จุดควบคุมวิกฤต เป็นแนวคิดเกี่ยวกับมาตรการป้องกันอันตราย ที่อาจเกิดขึ้น ในแต่ละขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมใด ๆ โดยมีกระบวนการดำเนินงานเชิงวิทยาศาสตร์ คือต้องมีการศึกษาถึงอันตราย หาทางป้องกันไว้ล่วงหน้ารวมทั้งมีการควบคุม และเฝ้าระวัง เพื่อให้แน่ใจว่ามาตรการป้องกัน ที่กำหนดขึ้นนั้น มีประสิทธิภาพตลอดเวลา
ที่มาของการเปลี่ยนแนวคิด HACCP ให้เป็นวิธีปฏิบัติในอุตสาหกรรมอาหารเกิดขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 โดยบริษัทพิลสเบอรี่ในสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการระบบงาน ที่สามารถใช้สร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยสำหรับการผลิตอาหารให้แก่นักบินอวกาศในโครงการ ขององค์การนาซ่า แห่งสหรัฐอเมริกา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น