1. Steve Jobs (Apple)
เคล็ดลับทางธุรกิจ: อย่าไปสนใจการวิจัยตลาด (Say no to focus groups and market research)คงไม่ต้องอธิบายกันมากสำหรับผลงานของสตีฟ จ็อบส์กับแอปเปิล ถึงแม้นิสัยส่วนตัวเขาจะแย่กับลูกน้องและผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ผลงานและวิสัยทัศน์ของเขาก็เป็นที่ประจักษ์ มุมมองที่น่าสนใจของจ็อบส์คือเขามองว่าผู้บริโภคไม่รู้ว่าตัวเองกำลังต้องการอะไร ดังนั้นการทำวิจัยตลาดหรือโฟกัสกรุ๊ปย่อมไม่เกิดประโยชน์ และกลายเป็นกำแพงขวางกั้นการสร้างนวัตกรรมเสียเปล่า
แอปเปิลภายใต้การนำของสตีฟ จ็อบส์ จึงเดินตามสัญชาติญาณของเขาในการมองเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิด และนำมาใช้มันให้เหมาะสมกับผลิตภัณ์ด้านไอทีแทน เขาเคยพูดประโยคทองวรรคหนึ่งไว้ว่า “อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ เคยทำวิจัยตลาดก่อนประดิษฐ์โทรศัพท์หรือเปล่า?”
2. Bill Gates (Microsoft)
เคล็ดลับทางธุรกิจ: หาพนักงานฉลาดล้ำและสร้างเป็นทีมขนาดเล็กๆ ขึ้นมา (Find very smart people and create small teams)
อดีตมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกติดกันหลายสมัย เขาเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการไม่กี่คนที่มีโอกาสเปลี่ยนโลกสองครั้ง ครั้งแรกกับไอทีด้วยการปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ด้วยพีซี และตอนนี้เขากำลังเดินหน้าเปลี่ยนแปลงโลกครั้งที่สองในฐานะเศรษฐีผู้ใจบุญ ที่ต้องการแก้ปัญหาสุขภาพและการศึกษาของชาวโลก
เทคนิคการบริหารองค์กรของเกตส์ทั้งสองแห่งคือจ้างพนักงานที่ฉลาดสุด ๆ และนำคนเหล่านี้มารวมกันเป็นทีมขนาดไม่ใหญ่นัก เพื่อพยายามแก้ปัญหายากๆ
เกตส์เล่าว่าการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตของเขาคือตั้งไมโครซอฟท์ร่วมกับพอล อัลเลน (Paul Allen) และจ้างเพื่อนของเขาคือสตีฟ บัลเมอร์ (Steve Ballmer) เข้ามาบริหารงาน ซึ่งทั้งสองคนเป็นคนที่เขาเชื่อใจ และทุ่มเทกับการทำงาน สามารถแชร์วิสัยทัศน์ในอนาคตร่วมกันได้ แต่ก็ยังมีทักษะการทำงานที่เชี่ยวชาญแตกต่างกัน ช่วยคานอำนาจและความคิดซึ่งกันและกัน
3. Fred Smith (FedEx)
เคล็ดลับทางธุรกิจ: จงพึ่งพาผู้จัดการระดับต้น (Rely on “first-level” managers)
อดีตนาวิกโยธินสหรัฐในสงครามเวียดนาม เขารับรู้ความยิ่งใหญ่ของกระบวนการลอจิสติกส์ของกองทัพสหรัฐในยามสงคราม ที่สามารถส่งทหารจำนวน 5 แสนนายและอุปกรณ์สนับสนุนอีกมากเดินทางครึ่งโลกไปร่วมรบได้ เขาเล่าว่าประสบการณ์ในสนามรบที่ทหารยกพลขึ้นบกทางทะเล และได้รับปืนใหญ่สนับสนุนโดยการขนส่งทางเครื่องบิน เป็นต้นกำเนิดให้ FedEx ใช้ยุทธศาสตร์ขนส่งที่ประสานทั้งทางบกและทางภาคพื้นดินเข้าด้วยกัน ตั้งแต่การปฏิบัติงานรับสินค้า-ส่งสินค้าทางภาคพื้น และการกระจายสินค้าทางอากาศ
เทคนิคการบริหารงานของเขาใช้หลักการของทหารเสียมาก เขาบอกผู้บริหารระดับสูงว่า FedEx จำเป็นต้องพึ่งพิงผู้จัดการระดับต้นๆ โดยทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง และชื่นชมคนเหล่านี้ในที่สาธารณะถ้าทำงานสำเร็จ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการฝึกของนาวิกโยธินอยู่แล้ว
4. Jeff Bezos (Amazon)
เคล็ดลับทางธุรกิจ: จงไปพักร้อนสั้นๆ เป็นประจำ (Take regular mini-retreats)
หลังจากเจฟ เบซอส ตัดสินใจลาออกจากงานในเฮดจ์ฟันด์ เขาก็ย้ายถิ่นฐาน ขับรถข้ามทวีปจากนิวยอร์กไปยังซีแอทเทิล เพื่อก่อตั้งบริษัท (เบซอสบอกว่าเลือกซีแอทเทิลเพราะมีปริมาณบุคคลากรด้านซอฟต์แวร์อยู่มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสำนักงานใหญ่ของไมโครซอฟท์อยู่ในบริเวณนั้น)
Amazon ต้องใช้เวลาถึง 6 ปีกว่าจะมีกำไร ซึ่งเขาเองก็ไม่รีบร้อนจะสร้างกำไรให้กับบริษัท แต่เขาต้องการสร้างบริษัทที่มีความสำคัญและอยู่ได้ยาวนานมากกว่า ที่ผ่านมาเขาต้องปฏิเสธข้อเสนอหรือคำเรียกร้องจากนักลงทุนในวอลล์สตรีทที่ต้องการเร่งให้ Amazon มีกำไรทันที เพราะเขาอยากเน้นที่รายรับและบริการหลังการขาย
เคล็ดลับทางธุรกิจของเบซอสคือรู้จักพักผ่อนเพื่อเคลียร์หัวสมองอยู่บ่อยๆ โดยทุกสิ้นไตรมาส เขาจะลาพักร้อนไปอยู่เงียบๆ คนเดียวในที่ที่ไม่มีการประชุมหรือเสียงโทรศัพท์ เขามักเล่นวินด์เซิร์ฟในช่วงเวลาเหล่านี้ และใช้เวลาว่างคิดทบทวนยุทธศาสตร์ของบริษัท เมื่อความคิดตกผลึกแล้ว เขาจะเขียนบันทึกสั้นๆ ประมาณ 2-3 หน้าเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ให้ตัวเอง และในบางครั้งก็แชร์ให้ผู้บริหารระดับสูงได้รับรู้ด้วย
5. Larry Page & Sergey Brin (Google)
เคล็ดลับทางธุรกิจ: อย่าประหยัดกับนวัตกรรม (Spare no expense on innovation)
สองผู้ก่อตั้งกูเกิลสามารถสร้างตัวขึ้นมาได้จากศูนย์ Larry Page เล่าว่าเมื่อเขาอายุ 23 ปี เขานอนฝันถึงการดาวน์โหลดอินเทอร์เน็ตมาเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว เมื่อตื่นมาแล้วเขารีบหยิบปากกาและจดไอเดียนี้ไว้ ซึ่งอีก 15 ปีให้หลัง กูเกิลเป็นบริษัทที่มีรายได้ต่อไตรมาสมากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ
เคล็ดลับทางธุรกิจของผู้ก่อตั้งกูเกิลคือใช้สูตร 70-20-10 โดยแบ่งเป็นงานประจำหรืองานหลักของบริษัท 70% งานที่เกี่ยวข้องหรือใกล้เคียงกัน 20% และงานอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยอีก 10% ซึ่งงานกลุ่มสุดท้ายสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบ
6. Howard Schultz (Starbucks)
เคล็ดลับทางธุรกิจ: จงหมั่นท้าทายวิถีการทำงานแบบเดิมๆ (Always challenge the old ways)
ยอดซีอีโอผู้ปลุกปั้นแบรนด์ร้านกาแฟ Starbucks ที่กลับมาเป็นซีอีโออีกครั้งหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 (อ่านรายละเอียดในบทความ “Onward ถอยไปข้างหน้า” บทเรียนแห่งการปฏิรูปของ Starbucks) เขาสามารถกู้บริษัทกลับมาจากวิกฤตได้สำเร็จ และปรับรากฐานของกิจการให้เข้มแข็งกว่าเดิมด้วยซ้ำ
สิ่งที่ชูล์ทซ์ทำคือการประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัท ปรับประสิทธิภาพในการทำงาน และใช้ยุทธศาสตร์พาบริษัทกลับไปสู่รากเหง้าของตัวเอง ชูล์ทซ์ใส่ใจรายละเอียดตั้งแต่กระบวนการเทนมที่เหลือค้าง ช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้นับสิบล้านดอลลาร์
เขาบอกว่าเคล็ดลับของเขาคือจงท้าทายวิธีการปฎิบัติงานแบบเดิมๆ ซึ่งตัวเขาเองนั่นแหละที่เคยเป็นคนคิดมาก่อน
7. Mark Zuckerberg (Facebook)
เคล็ดลับทางธุรกิจ: จงตื่นกลัวอยู่เสมอ (Embrace paranoia)
มหาเศรษฐีรุ่นหนุ่มที่โด่งดังที่สุดในยุคสมัยนี้ เขาเพิ่งมีอายุ 28 ปี แต่บริษัทของเขากำลังจะเข้าขายหุ้น IPO ครั้งประวัติศาสตร์ของวงการธุรกิจในสหรัฐ และอาจทำให้ Facebook มีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ได้สำเร็จ
Zuckerberg เดินตามรอยของบิล เกตส์ ที่ลาออกจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดกลางคัน เขาใช้เวลา 8 ปีสร้าง Facebook ขึ้นมาจากหอพักจนกลายมาเป็นเครือข่ายสังคมขนาดใหญ่ของโลก ส่วนหลักการทำงานของ Zuckerberg จะคล้ายกับ Andy Grove ผู้ก่อตั้งบริษัทอินเทล ที่มีประโยคอมตะว่า “ผู้ตื่นตัวเท่านั้นที่อยู่รอด” (only the paranoid survive)
8. John Mackey (Whole Foods)
เคล็ดลับทางธุรกิจ: เป้าหมายเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้คน (Purpose inspires people)
เมื่อปี 1978 จอห์น แมคเคย์ (John Mackey) และแฟนสาวของเขาในตอนนั้นคือ Renee Lawson เปิดร้านขายผักแห่งแรกในเมืองออสติน โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีจากการกินอาหารที่มีประโยชน์ ปัจจุบันบริษัท Whole Foods มีซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือกว่า 300 สาขา และพนักงานกว่า 56,000 คน ความสำเร็จของ Whole Foods ช่วยเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมอาหารในสหรัฐ เพราะบีบให้คู่แข่งต้องหันมาขายสินค้าเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น
Mackey บอกว่าเมื่อ 20 ปีก่อนคงไม่มีใครเชื่อว่าร้านซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่อย่าง Wal-Mart จะกลายเป็นผู้ค้าอาหารออแกนิครายใหญ่ของโลก แต่วันนี้มันก็เกิดขึ้นแล้ว
เคล็ดลับของ Whole Foods คือการขายสินค้าที่มีคุณภาพที่ดีที่เท่าที่สามารถหาได้ พยายามสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้บริโภค และสร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดต้องปฏิบัติให้ได้จริงในทางธุรกิจ
9. Herb Kelleher (Southwest Airlines)
เคล็ดลับทางธุรกิจ: ให้ลูกค้ารู้สึกว่าตัวเองคือหมายเลขหนึ่ง (Make your customers No. 1)
สายการบิน Southwest ของสหรัฐสามารถสร้างผลประกอบการที่มีกำไรติดต่อกันมาได้ 39 ปี ซึ่งไม่มีใครสามารถทำได้มาก่อนในวงการการบิน หลักการทำงานของ Herb Kelleher ผู้ก่อตั้งวัย 81 ปีคือตั้งราคาต่ำแต่ยังต้องทำกำไรให้ได้ ปัจจุบัน Southwest ครองส่วนแบ่งตลาดสายการบินต้นทุนต่ำ 90% ของสหรัฐ และเป็นสายการบินภายในประเทศที่ใหญ่ที่สุด
เคล็ดลับของ Kelleher คือกดค่าใช้จ่ายให้ต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ยังรักษาบริการต่อลูกค้าให้อยู่ในระดับสูงสุด เขายังให้เกียรติแก่พนักงานที่เขาจ้างมา เพราะเขารู้ว่าพนักงานที่ทำงานติดต่อกับลูกค้ามีโอกาสช่วยเหลือธุรกิจของเขาอย่างมาก หรือไม่ก็ทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรเสียหาย ดังนั้นเขาจึงปฏิบัติต่อพนักงานอย่างดี กระจายหุ้นให้พนักงานร่วมเป็นเจ้าของบริษัท ส่งผลให้สายการบิน Southwest มีความแตกต่างจากคู่แข่ง
เขาบอกว่าต้องให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นอันดับแรก และถ้าพนักงานรู้สึกดีแล้ว ลูกค้าจะได้รับการปฏิบัติที่ดีตามมาด้วย ทำให้กิจการไปได้และตอบโจทย์ของผู้ถือหุ้นไปในตัว
10. Narayana Murthy (Infosys)
เคล็ดลับทางธุรกิจ: เสียสละวันนี้ เพื่อกำไรวันพรุ่งนี้ (Sacrifice today, cash in tomorrow)
มหาเศรษฐีชาวอินเดีย หนึ่งในหกผู้สร้างอาณาจักร Infosys รับงานเอาต์ซอร์สทางไอทีจากสหรัฐจนเติบใหญ่ เขาสามารถแสดงให้โลกเห็นว่าอินเดียสามารถแข่งขันในตลาดซอฟต์แวร์ที่เคยถูกครอบครองโดยโลกตะวันตกได้ และกระแสการเอาต์ซอร์สที่ Infosys เป็นคนจุดขึ้นมาก็ช่วยให้เงินทุนจากโลกตะวันตกมาช่วยค้ำจุนประเทศอินเดียได้มากขึ้น
บทเรียนทางธุรกิจของเขาคือ องค์กรที่สร้างขึ้นมาจากศูนย์จะต้องเกิดจากทีมงานและระบบการทำงานที่เคารพคุณค่าของงาน เขาบอกว่าทีมงานต้องเสียสละตัวเอง ทำงานหนักในช่วงแรกเพื่ออนาคตที่ดีกว่าในวันหน้า ทีมงานอาจจะต้องทำงานหนัก มีปัญหาเยอะ อยู่ห่างไกลครอบครัว โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากลับมา
11. Sam Walton (Wal-Mart)
เคล็ดลับทางธุรกิจ: จงมอบสิ่งที่คนอยากได้ให้แก่พวกเขา (Give the people what they want)
อีกตำนานของมหาเศรษฐีที่สร้างตัวมาจากธุรกิจค้าปลีก (เขาเสียชีวิตแล้วในปี 1992) เมื่อปี 1984 แซม วอลตันซึ่งขณะนั้นมีอายุ 66 ปีแล้ว สวมกระโปรงหญ้าและเต้นฮูลาฮาวายกลาง Wall Street ด้วยเหตุผลว่าเขาแพ้พนันตัวเลขกำไรของ Wal-Mart ที่เดิมพันกับลูกน้อง
เขาเล่าเรื่องนี้ในหนังสือชีวประวัติของตัวเองว่า คนส่วนใหญ่คงคิดว่าประธานบริษัทเราบ้าแน่ๆ ที่ไปทำอะไรแบบนั้น แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ก็คือนี่เป็นเรื่องปกติของ Wal-Mart
แซม วอลตัน ถือเป็นบิดาแห่งการค้าปลีกในประวัติศาสตร์อเมริกัน เขาเอาชนะคู่แข่งได้เสมอด้วยประสิทธิภาพและวินัยในการทำงาน จุดเด่นของ Wal-Mart คือราคาที่ถูกกว่าคู่แข่ง โดยใช้เทคนิคการตัดคนกลาง และเจรจาซื้อสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรง
หลักการทำธุรกิจของ Wal-Mart นั้นตรงไปตรงมาคือ “ซื้อของถูก ซื้อของเยอะจนกองเป็นตั้งๆ และขายมันถูกๆ” ซึ่งยังใช้งานได้เสมอ ผู้สืบทอดธุรกิจของเขาคือ David Glass ยังยึดหลักการนี้ และพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่ช่วยติดตามพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าชอบซื้อสินค้าประเภทใด แล้วแชร์ข้อมูลเหล่านี้กลับไปยังผู้ผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ แถมยังเป็นการสร้างอิทธิพลของ Wal-Mart ต่อผู้ผลิตสินค้าในซัพพลายเชนด้วย
12. Muhammad Yunus (Grameen Bank)
เคล็ดลับทางธุรกิจ: ของขวัญเล็กๆ สามารถสร้างผลสะเทือนขนาดใหญ่ได้ (Small gifts can equal big impacts)
ต้นแบบของนักพัฒนาและผู้ประกอบการทางสังคมทั่วโลก โมฮัมหมัด ยูนุส อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ ผู้เห็นเพื่อนร่วมชาติที่ยากจนและหิวโหย เขาจึงตัดสินใจช่วยเหลือคนเหล่านี้ โดยเริ่มจากให้คนสานตะกร้าในหมู่บ้านข้างมหาวิทยาลัยกู้เงินประมาณ 27 ดอลลาร์เพื่อไปทำธุรกิจ
เขาเองก็ไม่เชื่อว่าเงินเหล่านี้จะเกิดประโยชน์อะไรได้ แต่แท้จริงแล้ว สำหรับคนที่มีรายได้เพียงน้อยนิดต่อวัน เงินเหล่านี้กลับเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล เงินกู้ขนาดย่อมช่วยค้ำจุนและขยายขนาดของธุรกิจขนาดเล็กๆ และช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้ดีขึ้น สิ่งที่ยูนุสตกตะลึงคือคนสานตะกร้ากลุ่มนี้จ่ายคืนหนี้ทั้งหมดอย่างตรงเวลา ยูนุสจึงทดลองขยายโครงการเงินกู้ไปยังหมู่บ้านข้างเคียง และประสบผลสำเร็จแบบเดียวกัน
โครงการของยูนุสพัฒนามาเป็น Grameen Bank สถาบันทางการเงินที่บุกเบิกเงินกู้แบบไมโครเครดิต (เงินกู้ขนาดย่อมเพื่อคนยากจน) ซึ่งภายหลังธนาคารกรามีนแห่งนี้ให้เงินกู้แก้คนยากจน 7 ล้านคนใน 73,000 หมู่บ้านทั่วบังกลาเทศ และโมเดลนี้ถูกนำไปผลิตซ้ำในอีกกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ยูนุสได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2006 จากผลงานนี้ของเขา
ที่มา – Fortune.,CNN Money
************************************
เพิ่มเติม Muhammad Yunus (Grameen Bank)
มูฮัมหมัด ยูนุส ปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt University) ในรัฐเทนเนสซี่ มีข่าวในสังคมไทยระยะสั้นๆ เนื่องได้รับรางวัลรางวัลโนเบลสันติภาพประจำปี 2006 แต่ในเนื้อข่าวนั้นต่อด้วยเป็นคิดค้น "ธนาคารคนจน ที่ชื่อว่า Grameen Bank" ที่ประเทศบังคลาเทศ ใกล้ๆ ไทยแลนด์แดนซิวิไลซ์ ตรงนี้ต่างหากที่น่าสนใจมากกว่าคนๆ หนึ่งได้รับรางวัลโนเบล ! คนเกิดมาแล้วก็ล้มหายตายจากไป แต่สิ่งที่คนทำประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่จะอยู่ต่อไปอีกนาน !
อีกไม่นานกระแสข่าวของ Grameen Bank ก็หายไปจากสังคมไทย !
ที่ไหนก็มีคนจนผู้ยากไร้ โดยเฉพาะคนที่ทำมาหากินกับอาชีพดั้งเดิมของมนุษย์ เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ! นับวันชีวิตก็ยิ่งยากลำบากขึ้น เนื่องจากคนมากขึ้น ทรัพยากรเพื่อการผลิตมีเท่าเดิม บางอย่างถูกใช้ไปจนเหลือน้อย รวมทั้งโอกาสที่จะทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น !
ดร.มูฮัมมัด ยูนุส มักพูดให้ชาวบ้านฟังเสมอว่า
คำว่า Grameen แปลว่า ชนบท ซึ่งเป้าหมายหลักของธนาคารนี้ ก็เพื่อช่วยเหลือคนยากจน โดยเฉพาะที่ได้ปล่อยเงินกู้ โดยไม่เรียกร้องหลักประกันอะไรทั้งสิ้น โดยเริ่มต้นปล่อยเงินกู้ในครั้งแรก ด้วยเงินยี่สิบเจ็ดเหรียญ ให้สมาชิกสี่สิบสองคน หรือเฉลี่ยแล้วรายละ 1.56 เหรียญเมื่อปี 1974 เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้น สร้างผลิตภัณฑ์สินค้าขึ้นมา โดยหลีกเลี่ยงการไปกู้เงิน จากนายทุนหน้าเลือด ที่เรียกอัตราดอกเบี้ยสูงๆ
ธนาคารคนจนของดร.ยูนัส ได้ยึดหลักว่า คนจนที่มีทักษะเพียงพอ แต่ขาดเพียงโอกาส ซึ่งตรงกับภาวะสังคมคนไทยในทุกวันนี้ ซึ่งธนาคารนี้หวังจะช่วยขจัดปัญหาของความยากจนให้หมดไป
และการปล่อยเงินกู้ ของธนาคารคนจนกรามีนนี้ ได้ปล่อยให้สมาชิกในกลุ่มของผู้กู้ ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้ โดยสร้างวินัยซึ่งกันและกันว่า อย่าเบี้ยวในการผ่อนส่งเงินกู้
จุดเด่นของลูกหนี้ส่วนใหญ่ เก้าสิบเจ็ดเปอร์เซ็นต์ กลับเป็นเพศหญิง และอัตราผ่อนคืนตรงเวลาของลูกหนี้ มีสูงถึงเก้าสิบแปดเปอร์เซ็นต์ ซึ่งธนาคารได้เปิดเผยสถิติว่า คนบังคลาเทศ ห้าสิบล้านคนจากประชากร 135 ล้านคน ได้หลุดพ้นจากห้วงของภาวะความยากจน ได้โดยการบุกเบิกของ ดร.ยูนัส
ธนาคารคนจนกรามีนนี้ มีบริการเปิดรับเงินฝาก และยังมีโปรเจ็คมากมาย ในการบริการพัฒนาชุมชน ซึ่งธนาคารชนบทนี้ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1976 และประสพความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ซึ่งต่อมาในปี 1983 รัฐบาลของบังคลาเทศ ได้ผ่านกฏหมายให้ธนาคารนี้ เป็นธนาคารเอกเทศ
จากแนวความคิด ของธนาคารกรามีนนี้ เสี้ยวหนึ่งได้ถูกนำมาใช้ ในสมัยของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ได้กลายเป็นที่นิยมในชนบท ตราบเท่าทุกวันนี้ ที่ชาวชนบทได้บูชาพ.ต.ท.ทักษิณสูง คิดว่ารัฐบาลชุดนั้น ได้ลอกเอาแบบจากแม่บทของธนาคารกรามีนนี้
จากผลงานที่ดีเด่น เพื่อคนจนในชนบทนี้เอง ดร.ยูนัสได้รับความชื่นชม จากผู้คนทั่วสารทิศ และได้รับรางวัลโนเบล เมื่อปี 2006 และได้กลายเป็นนายธนาคารเทวดา กับคนจน และในปีนี้ เขายังได้รับรางวัลเสรีภาพ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นรางวัล ที่มีค่าสูงส่งที่สุดของสหรัฐฯ
โปรแกรมปล่อยเงินกู้นี้ ได้แพร่ขยายไปทั่วบังคลาเทศ ซึ่งเมื่อปี 2005 ธนาคารคนจน มียอดเงินกู้ 4.7 พันล้านเหรียญ และได้เพิ่มเป็น 7.6 พันล้านเหรียญ เมื่อปีกลาย มีสาขาถึงสองพันหนึ่งร้อยสาขาทั่วประเทศ และยังได้ขยายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ถึงสี่สิบประเทศ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือ จากธนาคารโลกอีกด้วย อีกทั้งประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้ก่อตั้งธนาคารคนจน ตามแบบอย่างของธนาคารนี้ด้วย
Grameen Bank มีหลักการพื้นฐานและวัตถุประสงค์ดังนี้ คือ
1. การขยายบริการด้านเงินสินเชื่อไปสู่คนยากจนฐานล่าง โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ
2. ขจัดปัญหาดอกเบี้ยแพง การขูดรีดคนยากจนของนายทุนเงินกู้
3. สร้างโอกาสใหม่ ๆ สำหรับการลงทุนกิจการเล็ก ๆ ของตนเองสำหรับผู้ที่ขาดแคลนโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากร
4. กระตุ้น/ชักชวนให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาสรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่เข้ามีความเข้าใจและ
จัดการได้เอง ซึ่งเป็นการเพิ่มพลังความสามารถทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของกลุ่ม
คนยากจน
5. ทานกระแสวงจรความชั่วร้ายในเรื่อง รายได้น้อย, ออมน้อย, ลงทุนน้อย เป็นการขยายระบบ ?รายได้น้อย, ใช้สินเชื่อ, เกิดการลงทุน, รายได้เพิ่ม, สินเชื่อเพิ่ม, ลงทุนเพิ่ม, รายได้เพิ่ม ?
นอกจากหลักการพื้นฐานของ Grameen Bank ดังที่กล่าวมาแล้ว ลักษณะร่วมที่สำคัญของระบบการเงินผู้มีรายได้น้อย ได้แก่
1. เป็นสินเชื่อขนาดเล็ก ๆ เริ่มจากน้อยไปหามาก
2. ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้ มีการติดตาม ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง
3. เป็นสินเชื่อระยะสั้น 1 ปี ไม่เกิน 3 ปี
4. มีทางเลือกในการชำระคืนที่ยืดหยุ่นตามความเหมาะสม เช่น รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ฯลฯ
5. พลังกลุ่มและแรงเสริมหนุนจากเพื่อนพ้อง มีระบบกลุ่มคอยช่วยกันควบคุมดูแล การค้ำประกันร่วมกัน
6. การออมที่ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ แม้จะเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากนัก แต่เน้นที่วินัย สัจจะ
7. เป็นการเชื่อมโยงระหว่างการสนับสนุนการพัฒนาและสินเชื่อ ใช้สินเชื่อเป็นเครื่องมือให้เกิดการพัฒนา สนับสนุนการพัฒนาที่ทำให้เกิดการใช้สินเชื่ออย่างมีคุณภาพ
ความสำคัญของการให้ลูกหนี้ร่วมเป็น ‘เจ้าของ’ ธนาคารไมโครไฟแนนซ์
" ทันทีที่คุณปล่อยให้ชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นลูกหนี้ธนาคารไมโครไฟแนนซ์มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ การเมืองระดับหมู่บ้านก็จะก่อปัญหาทันที
ถ้าคุณให้ลูกหนี้เป็นเจ้าของก็ไม่เป็นไร แต่คุณต้องใช้ความระมัดระวัง ดูว่าลูกหนี้ใช้สิทธิความเป็นเจ้าของอย่างไรบ้าง
พวกเขาควรจัดการเลือกตั้งเพื่อเลือกผู้แทนให้เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการธนาคาร ถ้านี่เป็นบริษัทปกติ ก็จะมีคนเริ่มหาเสียง เงินก้อนโตจะเริ่มเข้ามาเกี่ยว
แต่การเลือกตั้งของเราทำอย่างเงียบเชียบมาก เราเขียนกฎที่ทำให้ไม่มีใครรู้ว่าเราจะจัดการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ศูนย์ลูกหนี้ของกรามีนแต่ละแห่งมีสมาชิก 50-60 คน พวกเธอต้องเลือกผู้แทน เรามีศูนย์แบบนี้ทั้งหมดหลายพันแห่ง กำหนดว่าผลการเลือกตั้งต้องเกิดจากมติของสมาชิก
ระบบของเราเป็นการเลือกตั้งแบบขั้นบันได ก่อนอื่นจะมีผู้สมัครประมาณ 10-15 คนต่อศูนย์ หน้าที่ของสมาชิกรอบแรกคือตัดให้เหลือ 5 คน เสร็จแล้วก็ต้องมานั่งอภิปรายถกเถียงกันจนเหลือ 1 คนที่จะเป็นผู้แทน ปกติก่อนที่จะมาถึงตรงนี้ได้ สมาชิกจะต้องจัดการประชุมหลายรอบ แต่พอได้ข้อสรุปแล้วก็จะไม่มีใครบ่นว่าฉันพ่ายแพ้ ถ้าต้องใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ เราก็ให้ใช้หนึ่งสัปดาห์ เราใช้วิธีอภิปรายถกเถียงจนได้มติของสมาชิก (แทนที่จะให้ลงคะแนนเฉยๆ)
เพราะไม่อย่างนั้นคุณจะทำให้ชาวบ้านแตกแยกกัน ถ้าพวกเขาไม่เจอหน้ากัน นี่เป็นปัญหาใหญ่ทุกที่ ฉันอยากเป็นผู้แทน เธออยากเป็นผู้แทน เราก็เลยจะสู้กัน กระทั่งหลังจากที่การเลือกตั้งจบลงแล้ว "
***************************
มีหลายอย่างเหมือนประเทศไทย และมีอีกหลายอย่างที่ประเทศไทยไม่ยอมเหมือนใคร.....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น