วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

>> ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก


ดอกเบี้ย (Interest) คือผลตอบแทนที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากการลงทุนโดยคำนวณเป็นอัตราร้อยละต่อปี อัตราดอกเบี้ยในทางเศรษฐศาสตร์นั้นสะท้อนมูลค่าของเวลา (Time Value) ซึ่งจัดเป็นทรัพยากรอย่างหนึ่ง และสะท้อนมูลค่าของเงินซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับอัตราเงินเฟ้อ (เงินเฟ้อคือสภาวะที่เงินมีมูลค่าถูกเมื่อเทียบกับสินค้าและบริการ)

ด้วยเหตุนี้ การบริหารจัดการระดับอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการเงินเฟ้อ โดยในประเทศไทยนั้นดำเนินการโดย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาพร้อมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 โดยกำหนดให้ กนง. ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการ คือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, รองประธานกรรมการ คือรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยฝ่ายเสถียรภาพการเงิน พนักงานอาวุโสของธนาคารประเทศไทยอีก 1 คน และบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกอีก 4 คน มีกำหนดการประชุมตัดสินอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งอิงจากอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 1 วัน (RP1) ทุกรอบ 2 เดือน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว จะส่งผลต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ และสภาพเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมตามหลักเศรษฐศาสตร์มหภาค กล่าวคือลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดการเติบโตของเศรษฐกิจที่รวดเร็วเกินไปซึ่งทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ 3% ต่อปี

หัวใจธุรกิจการธนาคารนั้นประกอบการโดยอาศัยส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝาก (Interest Rate Spread) ซึ่งจ่ายให้แก่ผู้นำเงินมาฝาก แล้วนำเงินฝากนั้นไปปล่อยกู้คิดดอกเบี้ยเงินกู้หากำไรเป็นพื้นฐาน อัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารขึ้นอยู่กับกลไกตลาดเงินและการแข่งขันระหว่างธนาคาร โดยมักอิงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของภาครัฐ และมีส่วนต่างแตกต่างกันไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของธนาคารผู้ประกอบการ โดยแต่ละประเทศก็มีส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ต่างกันขึ้นกับสภาพตลาดอุตสาหกรรมธนาคารในประเทศนั้นๆ

ธนาคารโลก (World Bank) ได้รวบรวมส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ กับดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกหนี้ชั้นดีเฉลี่ยต่อปีในปี 2010 มาแสดงไว้ ดังนี้


เบลารุส =  0.1 %      
ญี่ปุ่น = 1.1 %                  
อาร์เจนติน่า = 1.4 %      
เกาหลีใต้ = 1.7 %
แคนาดา = 2.6 %    
สวิตเซอร์แลนด์ = 2.7 %  
อิสราเอล = 2.9 %          
ออสเตรเลีย = 3.1 %
จีน = 3.1 %              
ไทย = 4.9 %                    
สิงคโปร์ = 5.2 %            
อินโดนีเซีย = 6.2 %
ภูฏาน =  9.5* %      
ลาว = 19.6 %                  
คองโก =  39.7 %            
ซิมบับเว = 457.5* %


*ข้อมูลล่าสุดปี 2007

ส่วนปัจจุบันในปี 2012 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทย อยู่ที่ 6.85% (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 0.75% อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย อยู่ที่ 7.6% เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2555)

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูง ย่อมเป็นผลดีต่อภาคธนาคารและธุรกิจการเงิน แต่ในทางกลับกันก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ เนื่องจากส่วนต่างดอกเบี้ยที่สูงจะไม่จูงใจให้คนเก็บออมเงินและไม่จูงใจให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ ฝากเงินก็ได้ดอกเบี้ยน้อย จะลงทุนประกอบกิจการก็เสียดอกเบี้ยแพง อัตราส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่สมดุล จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยจูงใจให้เกิดการออมพร้อมกับส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆริเริ่มทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ให้ลืมตาอ้าปากได้โดยไม่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยสูงเกินไป

ส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นผลสะท้อนของสภาพตลาดการเงินการธนาคารในประเทศนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ การควบคุมกำกับสถาบันการเงินโดยภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในแง่การสร้างกฏกติกาที่เป็นธรรม ส่งเสริมการแข่งขันระหว่างธนาคารให้มากขึ้น ลดการรวมตัวผูกขาดของธุรกิจธนาคารให้น้อยลง หรือกระทั่งการบังคับใช้กฏหมายต่อลูกหนี้แต่ละกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากหนี้เน่าของคนหนึ่งคน จะกลายมาเป็นต้นทุนที่ลูกหนี้ที่ดีคนอื่นๆต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยแทน


Reporter : A Horse With Na Name.
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม คลิกที่ "ความคิดเห็น" ด้านล่างนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น