วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

>> ปรับโฉมสหกรณ์เป็นแบงก์เอกชนดันสุดตัวไล่ตามพม่า-ลาว-ญวน/เปิดหลักสูตรสู้ AEC

สยามธุรกิจ - แนะ “ณัฐวุฒิ” โยกเงิน 1.7 ล้านล้านตั้งแบงก์สหกรณ์ ก่อนปล่อยกู้โครงการรัฐ แล้วย้ายสังกัดไปอยู่กับคลังแทนกระทรวงเกษตรฯ มั่นใจ มีลูกค้าในมือแน่ๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน เชื่อกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ ยกตัวอย่างสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นก็เคยซื้อบริษัท สหประกันชีวิต และบริษัท ธนสินประกันภัย ไว้ในเครือ แสงดถึงศักยภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง ชี้! พม่า ลาว ญวน กัมพูชา พัฒนาเป็นแบงก์หมดแล้ว ถ้าไม่เร่งปรับ เปิดเสรีอาเซียนชุมชนลำบากแน่
นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานเครดิตยูเนียน มงคลเศรษฐี เปิดเผยกับสยามธุรกิจ ต่อกรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะนำเม็ดเงินในสหกรณ์ 1.7 ล้านล้านบาท ปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการของหน่วยงานรัฐว่า โครงการดังกล่าวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ตนไม่สามารถตอบแทนชาวสหกรณ์ทั้งหมดได้ แต่การจะทำอะไรเกี่ยวกับสหกรณ์ จะใช้พียงการวิเคราะห์บนกระดาษไม่ได้ ต้องรู้จักจิตวิญญาณของสหกรณ์ด้วย

"วันนี้มีคนรู้จักสหกรณ์มากมาย แต่ถามว่ามีกี่คนที่เข้าใจสหกรณ์อย่างแท้จริง การสร้างสหกรณ์ขึ้นมาแต่ละแห่งต้องมีอุดมการณ์-หลักการ-วิธีการ สหกรณ์รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือกัน บางแห่งมีความเข้มแข็ง บางแห่งยังอ่อนแอ ถ้ารัฐบาลยืมเงินไปแล้วใช้คืนพร้อมดอกเบี้ยก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่สามารถชดใช้คืนได้ตามกำหนด จะทำยังไง" นายศุภชัย กล่าว

นายศุภชัยกล่าวอีกว่า ในภาพรวมของสหกรณ์ของไทยวันนี้ถือว่าล้าหลังกว่าหลายประเทศที่เคยมาดูงานสหกรณ์ของไทย แล้วกลับไปทำตาม ยกตัวอย่างเช่น เวียดนาม วันนี้เขาพัฒนาเป็นธนาคารสหกรณ์ หรือ SAVING BANK พม่า ลาว กัมพูชา รวมถึงจีนต่างมีธนาคารสหกรณ์ทั้งนั้น แต่บ้านเราพัฒนามาก่อนเขา เปิดสหกรณ์มาตั้ง 97 ปี แต่ยังไปไม่ถึงไหน
"แค่การเอาสหกรณ์ไปอยู่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ผิดแล้ว สหกรณ์เป็นเรื่องการออมเงิน การกู้เงิน เพราะฉะนั้นต้องอยู่ในการดูแลของกระทรวงการคลัง แต่พอเอาไปอยู่ในกระทรวงเกษตร การจะตั้งเป็นธนาคารก็ติดข้อกฎหมายทำไม่ได้ ถ้าสามารถพัฒนาสหกรณ์ให้เป็นแบงก์ได้ กลไกสหกรณ์บ้านเราจะเข้มแข็งกว่านี้อีกมาก การจะนำเงินของสหกรณ์ไปปล่อยกู้ให้กับภาครัฐก็จะมีความชัดเจนและเป็นไปได้มากกว่า"

นายศุภชัยยังกล่าวอีกว่า ส่วนที่มองว่าธนาคารสหกรณ์จะซ้ำซ้อนกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส.นั้นคนละประเด็น เพราะ ธ.ก.ส. เน้นช่วยเหลือเกษตรเป็นหลัก แต่ธนาคารสหกรณ์เป็นสถาบันการเงินเปิดกว้างสำหรับทุกคน และปัญหาใหญ่ของสหกรณ์อีกเรื่องหนึ่งคือการขาดแคลนบุคลากร ทุกวันนี้มีคนเข้าใจสหกรณ์แท้จริงไม่กี่คน เพราะไม่มีหลักสูตรสอนในเรื่องเหล่านี้ ถ้าคนรุ่นนี้ตายไป คนรุ่นใหม่จะขึ้นสามาสานต่อได้หรือเปล่า ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจสหกรณ์อย่างแท้จริง การจะพัฒนาให้เติบโตก็ทำได้ยาก 

"ผมขอเสนอให้บรรจุหลักสูตรสหกรณ์เข้าไว้ในแบบเรียนชั้นมัธยม หรือเปิดเป็นโรงเรียนสกรณ์ขึ้นมาเลย เหมือนโรงเรียนพาณิชย์ สอนเรื่องสหกรณ์ทั้งระบบ เหมือนสอนวิชาการเงิน เพื่อให้คนเข้าใจสหกรณ์ แล้วนำความรู้เหล่านั้นไปพัฒนาต่อยอดสหกรณ์ ไม่อย่างนั้น เราก็จะย่ำอยู่กับที่ เมื่อเปิดเสรีอาเซียนปี 2558 ก็สู้เพื่อนบ้านลำบาก"

แหล่งข่าวในสหกรณ์ เปิดเผยกับสยามธุรกิจ ว่า การตั้งธนาคารสหกรณ์สามารถทำได้ ถ้ากฎหมายเปิดช่อง เพราะที่ผ่านมาก็มีสหกรณ์บางแห่งไปซื้อบริษัทประกันชีวิต ซึ่งถือเป็นสถาบันการเงินมาไว้ในเครือ แสดงให้เห็นว่าสหกรณ์มีเงินออมจำนวนมาก สมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศมีมากกว่า 10 ล้านคน เท่ากับว่ามีลูกค้าในมือแน่ๆ ซึ่งก็ต้องคุยกันว่าถ้ากฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ จะทำในรูปแบบไหน อาจคัดเลือกเฉพาะกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์มาถือหุ้นร่วมกัน มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ แล้วให้สหกรณ์แต่ละแห่งเป็นสาขา กระจายทั่วประเทศ

"เมื่อ 3-4 ปีก่อน สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นได้เข้ามาซื้อบริษัทประกันภัย 2 แห่งคือบริษัท สหประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) และบริษัท ยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิม ธนสินประกันภัย) ซึ่งเป็น 2 บริษัทที่ประสบปัญหาด้านฐานะการเงินในขณะนั้นจนภาครัฐต้องเข้ามาควบคุมและหานักลงทุนเอกชนเข้ามาซื้อเพื่อให้ทั้ง 2 บริษัทเปิดดำเนินธุรกิจต่อไปไม่ให้กระทบกับลูกค้าจนมาลงตัวที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นซึ่งได้ดึงสหกรณ์อื่นๆ เข้ามาร่วมถือหุ้นส่วนที่เหลือด้วย โดยได้วางบทบาทให้บริษัทประกันภัยทั้ง 2 แห่งเข้ามาสร้างความคุ้มครองด้านประกันชีวิตและประกันวินาศภัย อาทิ ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ ประกันสุขภาพ ประกันทรัพย์สินบ้านอยู่อาศัย ประกันรถยนต์ เป็นต้นให้กับฐานสมาชิกสหกรณ์เหมือนเป็นบริษัทประกันภัยของคนสหกรณ์ทั่วประเทศ ซึ่งการซื้อบริษัทประกันภัยทำให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นมีบริการด้านการเงินครบวงจรมากขึ้น" แหล่งข่าว กล่าว
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ สหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา 

ที่โรงแรมดุสิตปริ๊นเซสโคราช อ.เมือง นครราชสีมา นายชวน ศิรินันท์พร ผวจ.นครราชสีมา พร้อม นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ สหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา ร่วมทำพิธีเปิดโครงการส่งเสริมสหกรณ์ในโรงเรียน โดยมีผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1-7 ( สพป.นม. 1-7 ) จำนวน 205 โรงเรียน รวมจำนวน 450 คน เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ รับฟังการชี้แจง วัตถุประสงค์ และแนวทางการดำเนินของโครงการฯ พร้อมร่วมลงนามทำบันทึกข้อตกลง "โครงการส่งเสริมสหกรณ์ในโรงเรียน ระหว่างสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา กับ สพป.นม.1-7" ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อให้สถานศึกษาสามารถดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปบูรณาการในการเรียน การสอน ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนสร้างความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ มีความสามัคคี ในหมู่คณะ และสามารถนำระบบสหกรณ์ไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมด้านต่างๆของโรงเรียนให้บรรลุผลสำเร็จด้านการเรียน และการใช้ชีวิตประจำวันได้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

ที่มา : http://www.siamturakij.com/home/news/display_news.php?news_id=413361723


สหกรณ์โคราชส่งเสริมสหกรณ์ในโรงเรียน
ปลูกฝังอุดมการณ์สหกรณ์นักเรียน-เยาวชน

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ สหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า การจัดทำโครงการส่งเสริมสหกรณ์ในโรงเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ให้แก่นักเรียนและเยาวชน ตลอดจนเพื่อเป็นการส่งเสริมกิจกรรมสหกรณ์ด้านต่างๆ ในโรงเรียน และเพื่อให้โรงเรียนได้มีการนำระบบสหกรณ์เข้าไปดำเนินการจัดการเรียนรู้การสหกรณ์ โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 205 โรงเรียน เราได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการให้กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1-7, ศึกษานิเทศก์, ผู้อำนวยการสถานศึกษา และครูผู้ดำเนินกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียน และข้าราชการสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา รวม 450 คนไปแล้ว โดยทุกคนได้ทราบถึงวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินการตามโครงการฯ ของเรา เพื่อสามารถดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมสหกรณ์ในโรงเรียนให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล โดยได้จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการส่งเสริมสหกรณ์ในโรงเรียน ระหว่างสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1-7 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า การดำเนินการตามโครงการส่งเสริมสหกรณ์ในโรงเรียน โดยเปิดรับสมัครโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ แล้วจัดให้มีการลงนามตามบันทึกข้อตกลงฯ และชี้แจงโครงการ หลังจากนั้นจะมีการเชิญครูของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 205 โรงเรียน มาอบรมความรู้เรื่องการสหกรณ์ โดยแบ่งการอบรมเป็น 3 รุ่น ในระหว่างวันที่ 20-22 มิถุนายน 2555 ณ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 5 นครราชสีมา เพื่อกำหนดเนื้อหาสาระ กิจกรรม และแนวทางการประเมินการเรียนการสอนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีความสอดคล้องกับเป้าประสงค์ของโครงการ จากนั้นให้ครูแต่ละโรงเรียนจะกลับไปดำเนินกิจกรรมสหกรณ์ภายในโรงเรียนของตนเอง สำหรับการประเมินผลภายหลังจากที่ได้มีการจัดกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียนแล้ว ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการประเมินผล ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1-7, สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์นครราชสีมา และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 5 นครราชสีมา โดยใช้แนวทางการประเมินผลตามแบบของโรงเรียนต้นแบบการจัดการเรียนรู้วิชาสหกรณ์ ทั้งนี้การจัดทำโครงการฯ ในครั้งนี้ จะส่งผลให้มีการจัดกิจกรรมสหกรณ์ขึ้นในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ โดยทางโรงเรียนจะได้มีการนำระบบสหกรณ์เข้าไปบูรณาการในการเรียนการสอนให้กับนักเรียน ส่งผลนักเรียนได้รับความรู้เรื่องสหกรณ์เพิ่มขึ้น นักเรียนสามารถนำระบบสหกรณ์ไปประยุกต์ใช้ให้บรรลุผลสำเร็จในด้านการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการยังได้รับการประกาศเกียรติคุณในการเป็นโรงเรียนต้นแบบการจัดการเรียนรู้วิชาสหกรณ์ในโรงเรียนอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น