วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

>> ล่าสุดกับกับการเป็นจังหวัดแม่สอด

เล่าลือกันมานานกับความพยายามจะเป็น "จังหวัดแม่สอด" ล่าสุด "สุริยะ ประสาทบัณฑิต" ผวจ.ตาก ชี้แจงต่อที่ประชุม กรอ.ตาก เมื่อวันพุธที่ 23 พฤษภาคม 2555 ณ ห้องประชุมตากสินมหาราชศาลากลางจังหวัดตาก ขอให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์กระทรวงมหาดไทย และมติ ครม. โดยขอให้หันมาช่วยผลักดันให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตปกครองพิเศษ รูปแบบพิเศษนครแม่สอด รวมทั้งให้ดูแผนแม่บท นโยบายรัฐบาล และทวายโปรเจ็กท์ ! 
พรรคพวกบางคนก็ว่า มึงไม่เห็นหรือไง ตึกเทศบาลแม่สอดสร้างย่อส่วนศาลากลางจังหวัดแล้ว ! เออ..กูไม่รู้...แต่เห็นเขาเม้าท์กันว่ามีคนวิ่งเป็นสหกรณ์จังหวัดแม่สอด สหกรณ์อำเภอเมียวดี มานานแล้ว...!
นายสุริยะ ประสาทบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ประชุม กรอ.ตาก เมื่อวันพุธที่ 23 พฤษภาคม 2555 ณ ห้องประชุมตากสินมหาราชศาลากลางจังหวัดตาก 

จังหวัดแม่สอด
นายสุริยะ ประสาทบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าการที่จะผลักดัน 5 อำเภอชายแดนตะวันตก เป็น จังหวัดแม่สอด อย่างดีก็ได้ผู้ว่าฯ ใหม่ 1 คน และหัวหน้าส่วนราชการอีกกลุ่มใหญ่ หางบประมาณมาสร้างอาคารและสถานที่ ขอให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์กระทรวงมหาดไทย และมติ ครม. อย่างบ้านผมและประธานรัฐสภา ที่ จ.ขอนแก่น มี 26 อำเภอ มีคนคิดขอแยกจังหวัดใหม่มานาน ยังแยกไม่ได้ จังหวัดตาก มี 9 อำเภอ ประชากร 5 แสนต้น ๆ ต้องมีอย่างน้อย 12 อำเภอ ประชากร 600,000 คน น่าจะผลักดันเขตปกครองรูปแบบพิเศษนครแม่สอด ให้สำเร็จ แล้วค่อยมาว่ากันใหม่

เขตเศรษฐกิจพิเศษ
เรื่องการผลักดันให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตปกครองพิเศษนครแม่สอด ในพื้นที่จังหวัดตาก นายสุริยะ ประสาทบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก มองเป็น 3 นัยยะ เรื่องแรก เป็นเรื่องที่ผลักดันมาจากภาคการเมืองตามมติ ครม.ปี 2553 เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ผู้ว่าราชการจังหวัดตากเพิ่งทำ TOR. โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคตพื้นที่แคบๆ 5,603 ไร่ 8 ตร.กม. คงจะเป็นแค่ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ ศูนย์อุตสาหกรรม ที่จอดรถยนต์ คงไม่พอ ต้องไปดูแผนแม่บทใหญ่ ที่ ครม.สัญจร อนุมัติให้แม่สอด แม่ระมาด และพบพระ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตรงนี้ น่าสนใจกว่า ซึ่งจะต้องเริ่มใหม่ ในข้อกฎหมายต้องผลักดันและหาความร่วมมือกับเทศบาลตำบลท่าสายลวด ต้องไปคุยและสร้างความเข้าใจกันใหม่ในเรื่องข้อกฎหมายและหลักเกณฑ์ และหาความลงตัวให้ได้

พ.ศ. 2558 กับการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC
นายสุริยะ ประสาทบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า ยิ่งปี 2558 เราจะรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน ขณะนี้พม่าก่อสร้างศูนย์อุตสาหกรรมที่เมืองผาอันใหญ่กว่าเรามาก จังหวัดตากมีศักยภาพมากในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทวายโปรเจ็กท์  จังหวัดกาญจนบุรีไม่ใช่คู่แข่งของ แม่สอด-เมียวดี  เราเป็น 4 แยกอาเซียน ถนนเอเชีย A 1 และ A 2 มาตัดกัน เราเป็นประตูอาเซียน ประตูเข้าออกเอเชีย-ยุโรป

สุดท้าย นายสุริยะ ประสาทบัณฑิต กล่าวว่าเราต้องมองศักยภาพเราให้เป็น และตั้งคณะทำงานที่คุยกันรู้เรื่อง เข้าใจ เข้าถึง การพัฒนา ไม่ใช้พูดจบในที่ประชุมไม่มีใครเดินเรื่องและติดตาม เป็นแค่เศษกระดาษแค่วาระการประชุม กรอ. เท่านั้น  ที่ผ่านมาเราเสียเวลาทั้งการไม่เข้าใจ และความอ่อนแอทางการเมืองของตากเองนานนับ 10 ปี สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัด มาคุยกัน ใครที่เข้าใจ เข้าถึง มาทำงานร่วมกัน ไม่ใช่พูดเอามันเพียงอย่างเดียว ให้เสนอตัวเองมาเป็นคณะทำงานเรื่องนี้ มาร่วมกัน คิดว่าอีก 3 ปี เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ต้องขึ้นเกิดแน่นอน !
ที่มา :

ทวายโปรเจ็กท์ กับมุมมองในสเกลที่ใหญ่กว่าจังหวัดตาก
"เส้นทางเศรษฐกิจสายใหม่" เส้นประสีเหลืองคือเส้นทางการค้าในปัจจุบัน ทุกสิ่งทุกอย่างต้องผ่านที่สิงค์โปร์ ส่วนเส้นประสีแดงคือเส้นทางสายใหม่โดยใช้ท่าเรือน้ำลึกทวาย ในประเทศเมียนมาร์เป็นจุดรับและกระจายสินค้า โดยผ่านการขนส่งทางบกในพื้นที่ประเทศไทย ที่จังหวัดกาญจนบุรี พาดผ่านไปกัมพูชา เวียดนาม และขึ้นเหนือไปที่ลาวและจีน มีจังหวัดตากเป็นเส้นทางเศรษฐกิจคู่ขนานกับจังหวัดกาญจนบุรี ตรงนี้น่าเสียดายเราทำแลนด์บริจด์ที่ภาคใต้ของไทยไม่ได้ ติดการเดินขบวนประท้วงเรื่องสิ่งแวดล้อม ลองเปลี่ยนจุดที่ทวายเป็นผืนดินแคบๆ ที่ภาคใต้ แต่คิดว่าสิงค์โปร์คงไม่แฮปปี้ !

มองกันชัดๆ กับเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ที่ผ่านจังหวัดตาก
(corridor : คำนาม = พื้นแผ่นดินสำหรับเป็นทางลงทะเล) แน่นอนละ เส้นทางนี้ลงทุนสูงกว่าแลนด์บริจด์ที่ขวานทอง แต่สร้างงานในกิจกรรมต่อเนื่องกับโลจิสติกส์ในผืนดินไทยเพียบ...และแน่นอนว่าต้นทุนการขนส่งสินค้าก็ย่อมสูงตาม...!

แผ่นดินไทยพร้อมกว่าทางด้านกายภาพ แต่เราทำไม่ได้เรื่อง Gateway (ทางเข้าออก) เราจึงต้องยอมให้เมียนมาร์เป็น Gateway โดยมีสิงค์โปร์ จีนเป็นกุนซือให้กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมาร์ ! แน่นอนละ...เรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครรอใครได้ !


เขียนเรื่องจังหวัดแม่สอด ลามปามมาถึงท่าเรือน้ำลึกทวายได้ไงนี่ ! ก็ขยายความตามข่าว และข่าวเข้าหู (ฟังทีวี...ไม่ได้ดู !) เมื่อเช้า ว่าเดินขบวนกันอีกแล้ว ข้างโพดอุ้มผาง ! ก็ฝันว่าข้าวโพดเขตแม่สอด แม่ระมาด จะไม่มีเดินขบวน ไงๆ ก็ขอให้เดินขบวนวันเสาร์อาทิตย์และโทรแจ้งล่วงหน้าด้วย ! จะได้ขับรถไปพูดคุยด้วย !

เนชั่นทันข่าว :

ชาวอุ้มผางสุดทน ไซโลรับซื้อข้าวโพดส่งกลิ่นเหม็น
5 มิ.ย.55 ชาวอำเภออุ้มผาง จ.ตาก ได้รวมตัวกันบริเวณถนนสาย อ.แม่สอด - อ.อุ้มผาง เขตตำบลหนองหลวง หลักกิโลเมตรที่ 156 อ.อุ้มผาง เพื่อเดินทางไปชุมนุมประท้วงไซโล รับซื้อข้าวโพดแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ติดถนนใหญ่ ซึ่งส่งกลิ่นเหม็น จนทำให้ประชาชนในระแวกนั้นได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากมีข้าวโพดที่รับจำนองไว้ของรัฐบาลตั้งแต่ปี 2552 เกิดเน่าและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ หมู่ที่ 2 , 3 และหมู่ที่ 4 บ้านแม่กลอง ต.แม่กลอง 

สำหรับไซโลดังกล่าว ได้ส่งกลิ่นเหม็นมานานหลายเดือนแล้ว และชาวบ้านได้ร้องเรียนต่อทางอำเภอ ทางเทศบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ขณะที่มีชาวบ้าน 5 คน เกิดอาการหน้าบวม และหายใจไม่สะดวก ถูกส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอุ้มผาง โดยทางโรงพยาบาลแจ้งแก่ทางญาติว่าผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องระบบหายใจ นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านที่สูงอายุหลายรายต้องย้ายออกไปจากนอกพื้นที่ เพราะมีอาการหน้าบวม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไซโลดังกล่าวเป็นของนายทุนรายใหญ่ที่มีไซโลหลายแห่งในพื้นที่ จ.ตาก เมื่อร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ไม่เป็นผล ก็จะรวมตัวกันประท้วง หากไม่ได้ผลอาจจะประท้วงถึงขั้นปิดถนนสายแม่สอด - อุ้มผาง

ชาวบ้านตากโวยข้าวโพดเน่าส่งกลิ่นเหม็นทั่วหมู่บ้าน
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ราษฎรบ้านแม่กลองเก่า หมู่ที่ 2 และบ้านใหม่ ป่าคา หมู่ที่ 3 ตำบลแม่กลอง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ราว 300 คน พร้อมป้ายกระดาษ มีข้อความต่างๆ ได้ไปชุมนุมประท้วง บริเวณด้านหน้าไซโล ชัยอนันต์ 1999 จำกัด ถนนสายอำเภออุ้มผาง - อำเภอแม่สอด หลักกิโลเมตรที่ 158  ทั้งนี้เนื่องจากไซโลดังกล่าวได้มีการส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ 2 หมู่บ้าน ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จนมีผู้ป่วย 4 คน ถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอุ้มผาง โดยกลุ่มชาวบ้านที่ไปชุมนุมประท้วง ได้กางเต้นท์ และใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวโจมตีไซโลดังกล่าว รวมทั้ง ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ทางภาครัฐไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ จึงมีข้อเสนอเรียกร้องให้ไซโลดังกล่าวกำจัดกลิ่นเหม็น มิให้เกิดมลภาวะชุมชน และให้ขนย้ายข้าวโพดทั้งหมดออกไปจากไซโลภายใน 7 วัน

สำหรับข้าวโพดที่ส่งกลิ่นเหม็นนั้น มาจากการรับจำนำข้าวโพดของรัฐบาลตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการจำหน่าย และขนย้ายออกไปจนเน่าเหม็นสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนดังกล่าว ต่อมานายวุฒิ สิทธิสุราษฎร์ รองผวจ.ตาก , นายณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกุลกิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก นางพรรณทิพย์ ไชยชนะ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก ได้เดินทางไปพบผู้ชุมนุม หลังจากประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่อำเภออุ้มผางแล้วเสร็จ

นายวุฒิ สิทธิสุราษฎร์ รองผวจ.ตาก กล่าวว่า มีกลิ่นเน่าเหม็นจริง และทำให้มีผู้ป่วยเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลอุ้มผาง 4 - 5 ราย ซึ่งถือว่า เป็นความเดือดร้อนของประชาชน ตนจึงสั่งการให้นายอำเภอแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของไซโล และให้เคลื่อนย้านข้าวโพดที่เน่าเหม็นออกไปโดยด่วนที่สุด ส่วนรายละเอียดนั้น จะรายงานให้กับนายสุริยะ ประสาทบัณฑิต ผวจ.ตาก เพื่อดำเนินการต่อไป

ล่าสุด กลุ่มผู้ชุมนุม เพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มว่า จะปิดถนนสายอำเภออุ้มผาง - อำเภอแม่สอด หากไม่มีความคืบหน้า หรือ ให้คำตอบชัดเจน ว่า จะย้ายข้าวโพดออกไปจากไซโล เมื่อใด เพราะขณะนี้มีชาวบ้านเจ็บป่วย และย้ายหนีออกจากหมู่บ้านไปแล้ว

เรียบเรียงโดย : A Horse With No Name !
ในโอกาสต่อไปตั้งใจว่าจะคุยเรื่อง "ยุทธศาสตร์กางเขนหัวกลับ (Reversed Cross)" ในหัวสมองของ “พันศักดิ์ วิญญรัตน์”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น