วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

>> หนังสือต้องห้ามในประเทศไทย และจิตร ภูมิศักดิ์

สมัยก่อนรัฐบาลของไทย (ก็ผู้ปกครองประเทศไทยนั่นแหละ) กลัว ความคิดของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากที่รัฐบาลต้องการ (ต้องการให้คิดแบบนี้ เท่านี้) จึงใช้อำนาจสั่งให้ประชาชน ห้าม ครอบครองหนังสือที่รัฐบาลเชื่อว่าหากประชาชนได้อ่านแล้วจะทำให้ประชาชนคิดต่างจากรัฐบาล แล้วจะทำให้กลุ่มคนที่ปกครองประชาชนเกิดความไม่มั่นคงในสถานะภาพ กลัวความเปลี่ยนแปลง กลัวอนาคต ฯลฯ

วันนี้เวลาผ่านไปนานแล้ว ประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้นกว่าเดิม (ก็มากกว่าเดิม) แต่วิธีคิดของชนชั้นผู้ปกครองก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่ช่อนรูป ทำให้เห็นไม่เหมือนเดิม แต่งตัว ใส่สูท พูดเรื่องใหม่ ด้วยคำใหม่ๆ ที่เข้ากับยุคสมัย เช่น ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง โลกาภิวัฒน์ การพัฒนาต้องเป็นแบบมีส่วนร่วม  อะไรก็ต้องมีส่วนร่วม ต้องทำประชาพิจารณ์ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่เนื้อแท้ในการปฏิบัติต่อประชาชนก็ยังคงสั่งประชาชนต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับงบประมาณช่วยเหลือนะ

ชี้นำประชาชน ในฐานะที่เป็นชนชั้นปกครอง และ เป็นเทพเจ้าของความถูกต้องแต่เพียงผู้เดียว (จะให้เกียรติแค่รับฟังประชาชน รับฟังลูกค้าจริงๆ จังๆ บ้างไม่ได้หรือไง..วะ)

สมัยเรียนหนังสืออยู่ ม.ปลาย (ม.ศ.4 - 5) เคยเห็นตำรวจบุกเข้ามาในห้องเรียน เพื่อจับเพื่อนนักเรียนในชั้นเรียน ดีแต่ว่ามันกระโดดหน้าต่างหลังห้องหนีออกไปได้ (มันเป็นนักเรียนหลังห้อง) อีกหลายเดือนมันย้อนกลับมาหาพรรคพวกกัน ถามมันว่าทำไมเขาตามจับมึง มันตอบว่า กูขึ้นเวทีร้องเพลงคนกับควาย เปิบข้าว ของจิตร  ภูมิศักดิ์ และมีหนังสือต้องห้ามบางเล่ม



----------------------------------------------

ถึงวันนี้ อะไรเปลี่ยนแปลงไปมากมาย จากหนังสือต้องห้าม กลายเป็นหนังสือควรอ่าน ต้องอ่านหลายเรื่องได้รับการพิมพ์ใหม่วางขายกันอย่างเปิดเผย


แน่นอน หนังสือของจิตร  ภูมิศักดิ์ ก็เช่นกัน หนังสือชื่อ โฉมหน้าศักดินาไทย ไปเจอและซื้อมาอ่านแล้วอ่านอีก เพราะอยากรู้ว่านอกจากตัวหนังสือที่อ่านแล้ว จิตร  ภูมิศักดิ์ มีวิธีคิดอย่างไร สังคมขณะนั้นเป็นอย่างไร แล้วเรื่องที่เขียนมาในปัจจุบันเป็นอย่างไร ทำไมเป็นแบบนี้
ลองอ่านดูแล้วสรุปเอาเองว่ารากเหง้าของเรื่องมาจากไหน เป็นเรื่องของอะไร ฯลฯ


ยังมีหนังสือดีๆ ของจิตร อีกมาก ที่ยังไม่ได้จัดพิมพ์ใหม่ เคยได้หนังสือเก่ามาสมัยเรียน ม.ศ.4-5 เสียดายมากเพราะหายไปนานแล้ว และยังหาซื้อใหม่ไม่ได้ คือเรื่อง ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ  ที่อ่านแล้ววางไม่ลง ตื่นตะลึงกับวิธีคิดของจิตร ในสมัยนั้นคิดได้ไง ต่างกับสมัยนี้นักคิดนักเขียนนักวิชาการมากมายที่อ่านภาษาฝรั่ง(ก็อปปี้) แล้วเอามาเล่าให้ฟังเป็นภาษาไทย ก็สุดหรูแถวหน้าเหนือมนุษย์ธรรมดาแล้ว



จิตร ภูมิศักดิ์ เดิมชื่อ สมจิตร เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๓ บิดาเป็นนายตรวจกรมสรรพสามิต ซึ่งต่อมา ใน พ.ศ.๒๔๘๔ ได้ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดพระตะบอง ซึ่งขณะนั้น เป็นดินแดนที่ไทยได้รับคืนมาจากฝรั่งเศส เด็กชายสมจิตรจึงได้ย้ายไปอยู่พระตะบองด้วย ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขให้จิตรรู้ภาษาเขมรเป็นอย่างดี และในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามนี้เอง ที่รณรงค์ให้มีการเปลี่ยนชื่อให้ผู้ชายต้องมีชื่อแบบผู้ชาย สมจิตร จึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น จิตร ภูมิศักดิ์ ต่อมา เมื่อสงครามโลกยุติลง ไทยต้องคืนดินแดนพระตะบอง บิดาของจิตรไปมีครอบครัวใหม่ หลังจากนี้ นางแสงเงิน ผู้มารดา เป็นผู้เดียวที่ทำงาน ทั้งขายของและเย็บผ้าเพื่อนำเงินมาเลี้ยงดูส่งเสีย พี่สาวของจิตร ที่ชื่อ ภิรมย์ และ จิตรเอง จนกระทั่งจบการศึกษา จิตรจึงมีความเห็นใจและผูกพันกับมารดาอย่างมาก

จิตรเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดเบจมบพิตร ต่อมา ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ ในขณะนั้น ได้มีกระแสการรณรงค์เรื่องสันติภาพ ซึ่งทำให้จิตรตื่นตัวขึ้นแล้วสนใจปัญหาบ้านเมือง กรณีสันติภาพเริ่มจากการที่สหรัฐฯส่งทหารเข้ารุกรานเกาหลี ในข้ออ้างว่าเพื่อป้องกันคอมมิวนิสต์ ในที่สุดเหตุการณ์ในเกาหลีได้ขยายตัวเป็นสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ ประเด็นคือ รัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เห็นว่า สหรัฐฯเป็นมหามิตร และหวังในความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหาร จึงได้ส่งกองทัพไทยไปเข้าร่วมรบสนับสนุสหรัฐฯในสงครามครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ปัญญาชนไทยที่ก้าวหน้าจำนวนหนึ่ง มีความไม่เห็นพ้องต่อนโยบายเช่นนี้ โดยเสนอว่า รัฐบาลไทยไม่ควรส่งทหารชั้นผู้น้อยไปรบและตายในสงครามที่ไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังเสนอให้มหาประเทศแก้ปัญหาเกาหลีด้วยสันติวิธีและสันติภาพ เลิกใช้สงครามเป็นทางออก การรณรงค์ในลักษณะเช่นนี้ รัฐบาลไทยไม่อาจยอมรับได้ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๕ รัฐบาลจึงจับกุมกลุ่มฝ่ายค้าน และปัญญาชนนับร้อยคนเข้าคุก ด้วยข้อหากบฏ นี่น่าจะเป็นครั้งแรกในโลก ที่มีการจับกุมผู้เรียกร้องสันติภาพเป็นกบฎ กลุ่มกบฏสันติภาพถูกคุมขังเป็นนักโทษการเมืองราว ๕ ปีก็ถูกปล่อยตัว เพราะได้รับการนิรโทษกรรมในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐

เมื่อจิตร ภูมิศักดิ์ สนใจปัญหาบ้านเมือง และมึความตื่นตัวเขาได้เสนอแนวคิดที่ก้าวหน้าในหนังสือ ๒๓ ตุลา ซึ่งเป็นหนังสือประจำปีของมหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ แต่กลุ่มพลังอนุรักษ์นิยมในมหาวิทยาลัยที่มีความคิดคับแคบไม่ยอมรับ จึงจับจิตร ภูมิศักดิ์ โยนบก คือ โยนลงจากเวทีหอประชุม จนจิตรได้รับบาดเจ็บ แต่แทนที่ฝ่ายที่คุกคามจิตรด้วยกำลังอันป่าเถือนเช่นนั้นจะถูกลงโทษ กลายเป็นว่า มหาวิทยาลัยลงโทษจิตรด้วยการพักการศึกษาเป็นเวลา ๒ ปี จิตรต้องออกไปทำงานประกอบอาชีพระยะหนึ่ง แล้วจึงกลับมาเรียนจนจบการศึกษา

ในทางวิชาการ จิตร ภูมิศักดิ์ ให้ความสำคัญแก่การค้นคว้าเพื่ออธิบายปัญหา กรณีหนึ่งที่จิตรเห็นว่าเป็นปัญหาอันร้ายแรง คือ ระบอยศักดินาที่กดขี่และมอมเมาความคิดของประชาชน ให้งมงายและมีความคิดแบบด้านเดียว เขาได้เขียนหนังสือ ชื่อ โฉมหน้าศักดินาไทย พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นงานวิชาการทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นความเป็นมาและลักษณะพิเศษอันไม่เป็นธรรมของระบอบศักดินาในสังคมไทย หนังสือเล่มนี้กลับมาตีพิมพ์ และกลายเป็นหนังสือขายดีหลังกรณี ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖

นอกจากนี้ จิตรยังเขียนงานวิชาการไว้อีกหลายเรื่อง เช่น งานด้านวรรณคดี จิตรเป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่เสนอแนวทางวิพากษ์วรรณคดี ที่ชี้ให้เห็นว่า วรรณคดีเหล่านี้ สะท้อนแต่ชีวิตและความคิดของชนชั้นศักดินา ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน และยังมิเนื้อหาอันมอมเมาเหลวไหล กดขี่สตรี เพราะงานวรรณคดีเหล่านี้ ไม่เคยที่จะพิจารณาสตรีในฐานะมนุษย์ แต่เห็นสตรีเป็นเพียงวัตถุทางเพศ เพื่อบำเรอชายชนชั้นศักดินา จากทัศนะของจิตรที่ชิงชังการกดขี่ทางเพศของชนชั้นศักดินา ทำให้จิตรกลายเป็นนักบุกเบิกรุ่นแรกของขบวนการสตรีนิยมฝ่ายก้าวหน้าในสังคมไทย ที่ก่อกระแสการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีต่อมา

แต่งานวิชาการชิ้นเอกของจิตร คืองานด้านภาษาศาสตร์ เรื่อง ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และ ขอมและลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ซึ่งจิตรค้นคว้ามาเป็นอย่างดี ทั้งที่มีความจำกัดในด้านการค้นหลักฐาน จิตรอธิบายที่มาของตำว่า สยาม ไทย ลาวและ ขอม อย่างละเอียดและรอบด้าน โดยมีเป้าหมายการเสนอเพื่อคัดค้านแนวคิดชาตินิยมคับแคบ ที่ยืนอยู่กับแนวคิดครองความเป็นใหญ่ของเชื้อชาติไทย ซึ่งเป็นแนวทางการรณรงค์ชาตินิยม ในแบบจอมพล ป.พิบูลสงคราม

ด้วยการเป็นนักคิด นักเขียนอิสระ และเสนอแนวทางในเชิงวิพากษ์สังคม บทบาทของเขาจึงไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มชนชั้นนำ ดังนั้น เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำการรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๑ จอมพลสฤษดิ์ได้ล้มเลิกประชาธิปไตย ปิดรัฐสภา เลิกรัฐธรรมนูญ แล้วบริหารประเทศแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ เขาต้องการสร้างประเทศที่มีประชาชนว่านอนสอนง่าย เชื่อฟังและปฏิบัติตามรัฐ โดยไม่มีฝ่ายค้าน ดังนั้น จึงใช้อำนาจคณะปฏิวัติ ทำการจับกุมกลุ่มฝ่ายค้าน พวกสังคมนิยม นักหนังสือพิมพ์ นักคิดนักเขียนอิสระเข้าคุกเป็นจำนวนมาก จิตรเป็นคนหนึ่งที่ถูกจับเข้าคุกในครั้งนี้ด้วย เขาจึงกลายเป็นนักโทษการเมือง ที่คิดคุกโดยไม่มีความผิดอะไรเลย ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ มีนักโทษในลักษณะนี้มากกว่า ๕๐๐ คน ซึ่งส่วนหนึ่งต่อมาก็ถูกฟ้องด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ แต่หลายคนก็ถูกปล่อยตัว ยุคจอมพลสฤษดิ์จึงเป็นยุคมืดทางปัญญา ยุคแห่งการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยุคแห่งอำนาจบาดใหญ่ของกองทัพ จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่กรรมในตำแหน่งเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๖ จากนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร มาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และใช้นโยบายผ่อนปรน ปล่อยตัวนักโทษการเมือง จิตรจึงถูกปล่อยจากคุกใน พ.ศ.๒๖๐๗ ซึ่งเท่ากับติดคุกโดยปราศจากความผิดถึง ๖ ปี

แม้ว่าจิตรจะได้รับการปล่อยตัว แต่บ้านเมืองยังอยู่ในยุคเผด็จการ ไม่มีประชาธิปไตย จิตรต้องการจะต่อสู้ต่อไป เขาจึงตัดสินใจเดินทางสู่เขตป่าเขาเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ เพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ต่อสู้เพื่อเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยและสังคมนิยม วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๙ จิตรเสียสละชีวิตที่ชายป่าบ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร แม้ว่าเขาจะล่วงลับไปแล้ว แต่ผลงานและการต่อสู้ของเขา ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลัง ที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในสังคมต่อไป และตำแหน่งที่เขาถูกยิงเสียชีวิต ในปัจจุบันก็มีการสร้างเป็นอนุสาวรีย์ไว้ เพื่อให้คนรำลึกถึง

ในบ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และมีความเจริญในทางวัฒนธรรมความคิด เขาย่อมปล่อยให้ประชาชนมีเสรีภาพทางความคิด และจะไม่มีการจับกุมคุมขังประชาชนเป็นนักโทษการเมือง เราจึงพบว่า ประเทศเช่น สวิทเซอร์แลนด์ สวีเด็น ฟินแลนด์ หรือประเทศแทบทั้งหมดในยุโรป จะไม่มีนักโทษการเมืองเลย แต่ในประเทศเผด็จการ ไม่มีประชาธิปไตย เช่นในพม่า และหลายประเทศแทบแอฟริกากลาง จะมีการจับกุมปัญญาชนที่คิดต่างจำนวนมากเป็นนักโทษการเมือง โดยเข้าใจว่า วิธีการคุกคามเช่นนี้ จะรักษาเสถียรภาพทางการเมืองของตนไว้ได้ เป็นที่น่าเสียใจว่า ประเทศไทยนั้นอ้างคนเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่ก็ยังมีการจับคุมคุมขังนักโทษการเมืองเอาไว้จำนวนมาก นี่จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

ยุคสมัยเผด็จการที่จิตร ภูมิศักดิ์ เผชิญผ่านมาแล้ว ๔๖ ปี จึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศควรจะเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ และยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน การปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดจึงเป็นขั้นตอนสำคัญ ที่จะทำประเทศไปสู่ความก้าวหน้าเช่นนั้น โดยเฉพาะการปล่อยนักโทษกรณี ๑๑๒ ซึ่งเป็นนักโทษทางความคิดอย่างแท้จริง

*****************************************

วันที่ 4 พฤษภาคม 2509 สหายปรีชาและพลพรรคอีก 5 คนข้ามทางสายวาริชภูมิ-ตาดภูวง มาทำงาน มวลชนที่บ้านหนองแปน และบ้านคำบ่อ ในวันรุ่งขึ้นได้ถูกล้อมปราบจากฝ่ายรัฐบาล สายปรีชา สหายสวรรค์และ สหายวาริช ได้หลบหนีไปทางเทือกเขาภูอ่างศอ แต่ได้หลงทางไปถึงบ้านหนองกุงในเวลาเย็น ด้วยความหิว สหายปรีชาได้เข้าไปขอข้าวในหมู่บ้านหนองกุ่ง ที่บ้านของ นางคำดี อำพล แต่นางคำดีได้แอบให้คนไปแจ้งแก่ กำนันคำพล อำพน (กำนันแหลม) เมื่อจิตรได้รับห่อข้าวก็ เดินทางออกมา ที่ชายป่าท้ายหมู่บ้านเพื่อนำห่อข้าวมาให้ กับสองสหาย แต่ถูก กำนันแหลมและกลุ่มทหาร อส.ตามมาทัน ที่นาจารย์รวย และสหายปรีชาได้ ถูกล้อมยิงเสียชีวิต 

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2509 จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกล้อมยิงเสียชีวิตลงที่ชายป่าบ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร 


ภายหลังกำนันคนนี้ ได้รับรางวัลไปเที่ยวอเมริกา คงไม่ต้องบอกใครให้รางวัล


*************************************

การกีดกันความเป็น "คอมมิวนิสต์" ออกจาก จิตร ภูมิศักดิ์ หลัง-พคท.
สัมมนา 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ จัดโดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์และกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553


โดย ธิกานต์ ศรีนารา

หมายเหตุ  บทความวิชาการเกี่ยวกับจิตร ภูมิศักดิ์ ชิ้นนี้ เป็นผลงานของ "ธิกานต์ ศรีนารา" นิสิตระดับปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกนำเสนอในการสัมมนา 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ จัดโดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์และกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เว็บไซต์ประชาไทเป็นผู้นำบทความชิ้นนี้มาเผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก มติชนออนไลน์เห็นว่ามีเนื้อหาน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ ณ ที่นี้
__________

 บทความชิ้นนี้ต้องการเสนอว่า มีข้อเท็จจริงร่วมสมัยจำนวนมากที่ยืนยันว่า จิตร ภูมิศักดิ์ เป็น "คอมมิวนิสต์" แบบ พคท.ซึ่งวิเคราะห์สังคมไทยว่าเป็นสังคม "กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา" และมุ่งทำการปฏิวัติโค่นล้มทั้ง "ทุนนิยม" และ "ศักดินา" ในช่วงระหว่างหลัง 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 เมื่อ พคท. สามารถขยายอิทธิพลทางความคิดเข้าสู่ขบวนการนักศึกษาปัญญาชนได้อย่างกว้างขวางนั้น ภาพพจน์ของการเป็น "ปัญญาชนปฏิวัติ" ของจิตรได้รับการ "ขานรับ" เป็นอย่างดีจากนักศึกษาปัญญาชน และเมื่อนักศึกษาปัญญาชนฝ่ายซ้ายเข้าไปร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธกับ พคท. ในเขตป่าเขาภายหลังกรณี 6 ตุลาคม 2519 "ความเป็นคอมมิวนิสต์" ของจิตรก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ไร้ข้อกังขาใดๆ

จุดเปลี่ยนที่สำคัญของประวัติศาสตร์การกีดกัน "ความเป็นคอมมิวนิสต์" ออกจากจิตรเริ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2520 เมื่อบรรดานักศึกษาปัญญาชนฝ่ายซ้ายเกิดวิกฤตศรัทธาต่อ พคท. แล้วแยกตัวออกจากพรรคไปหลบเร้นเยียวยาตนเองไม่ปรากฏตัวต่อหน้าผู้คน ได้เปิดที่ทางให้กับการพูดถึงจิตรแก่ปัญญาชนทั้งไทยและเทศที่ไม่ใช่ฝ่ายซ้าย, มี "อคติ" ต่อ "คอมมิวนิสต์" ค่อนข้างรุนแรง แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็ชื่นชมในอัจฉริยภาพในด้านวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ และ "วิชาการ" ของจิตรอยู่มาก ได้พยายาม "กีดกัน" ความเป็นคอมมิวนิสต์ผู้ซึ่งมุ่งทำการปฏิวัติโค่นล้มทั้ง "ทุนนิยม" และ "ศักดินา" ออกไปจากจิตร แล้วเลือกที่จะพูดถึงเฉพาะอัจฉริยภาพในด้านวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ และ "วิชาการ" จิตรเพียงด้านเดียว และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการพูดถึงจิตรในลักษณะที่ "ขัดแย้ง" หรือ "ไม่แคร์ไม่สน" ต่อความเป็น "คอมมิวนิสต์" ของจิตรซึ่งเกิดขึ้นตามวาระโอกาสต่างๆ ของผู้คนในยุคปัจจุบัน

1. ก่อน 14 ตุลา: จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้เป็นอยู่และตายเยี่ยง "คอมมิวนิสต์"

จิตร ภูมิศักดิ์ เป็น "คอมมิวนิสต์" อย่างไม่ต้องสงสัย ก่อนเข้าป่าเขาเขียนหนังสือวิพากษ์ทั้ง "ศักดินา" และ "ทุนนิยม", เขาเข้าร่วมต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับ พคท. และถูกยิงตายที่ "ชายป่า" ในฐานะ "คอมมิวนิสต์"

ความเป็น "คอมมิวนิสต์" ของ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นแบบ พคท. ซึ่งยึดถือทฤษฎี "กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา" ที่มุ่งต่อต้านโค่นล้มทั้ง "ทุนนิยมและศักดินา" ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี 2493 ชื่อ ไทยกึ่งเมืองขึ้น ของ อรัญญ์ พรมชมพู หรือ อุดม สีสุวรรณ กรรมการกลางพรรคปี 2495 และสมาชิกกรมการเมือง ปี 2512

ใน ไทยกึ่งเมืองขึ้น อุดม สีสุวรรณ วิเคราะห์ว่า นับตั้งแต่การทำสนธิสัญญาบาวริ่งกับอังกฤษใน พ.ศ. 2398 เป็นต้นมา สังคมไทยก็กลายเป็นสังคม "กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา" ที่ด้านหนึ่ง การรุกรานของจักรพรรดิเฉือนเอาแผ่นดินไทยไปเป็นเมืองขึ้นของตน คุกคามทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในฐานะ "กึ่งเมืองขึ้นของจักรพรรดินิยม" ขณะที่อีกด้านหนึ่ง การรุกรานของจักรพรรดินิยมได้ทำให้รากฐานทางเศรษฐกิจของระบอบศักดินาไทยต้องสลายตัวลงสร้างเงื่อนไขและโอกาสให้แก่การผลิตแบบทุนนิยมในสังคมไทย ผลักดันให้สังคมไทยก้าวออกจากระบอบศักดินามาเป็น "กึ่งศักดินา"

เราสามารถมองเห็นความคิดที่วิพากษ์ทั้ง "จักรวรรดินิยม" และ "ศักดินา" ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้อย่างชัดเจนในหนังสือ โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน (2500) ที่เปิดฉากวิพากษ์ทั้ง "จักรวรรดินิยมและศักดินา" ตั้งแต่ย่อหน้าแรก ดังนี้

ในกระแสคลื่นแห่งความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ, การเมืองและวัฒนธรรมปัจจุบันนี้ สิ่งที่ประชาชนไทยได้ยินและกล่าวขวัญถึงจำเจ เป็นปัญหาประจำวันก็คือ จักรวรรดินิยม (ซึ่งรวมทั้ง นายทุนนายหน้า และ นายทุนขุนนาง ผู้เป็นสมุนของมัน) และ ศักดินา. สถาบันของประชาชนทั่วไปจะเป็นหนังสือพิมพ์ก็ดี. การอภิปรายในที่สาธารณะเช่นท้องสนามหลวงของจังหวัดพระนคร และในบริเวณศาลากลางหรือตลาดของต่างจังหวัดก็ดี, และแม้ในความเคลื่อนไหวอื่นๆ ของประชาชน เป็นต้นว่าการเดินขบวนก็ดี เสียงที่ดังที่สุดก็คือ เสียงคัดค้านและประณามจักรวรรดินิยมและศักดินา


แน่นอนความเคลื่อนไหวอย่างกว้างของประชาชนไทยที่คัดค้านและประณามจักรวรรดินิยมและศักดินานี้ ย่อมเป็นนิมิตหมายอันดีที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนไทยในปัจจุบันนี้ ได้ตื่นตัวขึ้นแล้วโดยสมบูรณ์ เขาได้สามารถมองเห็นแล้วอย่างชัดเจนว่า ใครคือศัตรูที่ปล้นสะดมแล่เนื้อเถือหนังพวกเขาและใครคือศัตรูที่สูบรีดซึมลึกเข้าไปจนถึงแก่นกระดูกดำของเขาทั้งมวล ความจัดเจนในชีวิต...สอนให้ประชาชนไทยมองเห็นได้ว่า ต้นตอที่มาใหญ่ของมันก็คือ จักรวรรดินิยม (รวมทั้งสมุนคือนายทุนนายหน้าและนายทุนขุนนาง) และศักดินา
...........

ยิ่งกว่านั้น ประชาชนไทยยังมองเห็นอีกด้วยว่า การขูดรีดและกดขี่ประชาชนของจักรวรรดินิยมและศักดินานั้น เป็นการขูดรีดร่วมกัน (Collective Exploitation) นั่นคือ ทั้งคู่ต่างมีผลประโยชน์ในการขูดรีดร่วมกัน...ดังนั้นเอง เสียงสะท้อนจึงดังก้องมาจากประชาชนไทยเสมอว่า ศัตรูตัวสำคัญที่เขาจะต้องขจัดอย่างรีบด่วนที่สุดก็คือ จักรวรรดินิยมจากภายนอกและศักดินาจากภายใน

แต่ที่จิตรพูดออกมาอย่างชัดเจนที่สุดก็คือในบทความชื่อ “ความพ่ายแพ้ของภาพยนตร์จักรพรรดินิยม” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือ ปิตุภูมิ ระหว่างปี  2499 – 2500 ที่ว่า

สภาพชีวิตในสังคมไทยปัจจุบันเป็นสภาพชีวิตแบบ กึ่งศักดินา กึ่งเมืองขึ้น ซึ่งเป็นแบบเดียวกับสังคมจีนก่อนการปลดแอก คือ ศักดินายังคงมีอิทธิพลมหึมาในการขูดรีดประชาชน พวกขุนศึกกำลังแก่งแย่งอำนาจช่วงชิงผลประโยชน์กัน และขณะเดียวกันก็กดขี่ประชาชนอย่างหนัก จักรพรรดินิยมก็กระหน่ำซ้ำเติมการขูดรีดอยู่อีกแรงหนึ่งอย่างหนักหน่วงด้วย

การมีความคิดที่วิพากษ์ทั้ง "จักรวรรดินิยมและศักดินา" ของจิตร เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในหมู่ปัญญาชนซึ่งมีชีวิตอยู่ร่วมสมัยเดียวกับเขา ในหนังสือ คอมมิวนิสต์ลาดยาว ทองใบ ทองเปาด์ เล่าว่า จิตร "เป็นคนที่เกลียดชังทุนนิยม ศักดินานิยมและจักรพรรดินิยมอย่างเข้ากระดูกดำ"

ชื่อทางการของเขา ใครๆ ก็เรียกว่า "จิตร ภูมิศักดิ์" ถูกแล้ว ผมหมายถึงเขา จิตร ภูมิศักดิ์ หรือ ทีปกร หรือ สมชาย ปรีชาเจริญ หรือ กวีการเมือง หรือ อื่นๆ อีก ซึ่งล้วนเป็นนามที่ "ศักดินาเกลียด จักรพรรดินิยมแสยง" ทั้งสิ้น

ขณะที่ในหนังสือ วาระสุดท้ายแห่งชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2531 แคน สาริกา ได้นำเสนอข้อมูลที่ "ลึก" ยิ่งกว่าที่ ทองใบ ทองเปาด์ เล่าไว้ใน คอมมิวนิสต์ลาดยาว เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติงานของ พคท. กับ จิตร ภูมิศักดิ์ ในช่วงที่อยู่ใน "คุกลาดยาว" ว่า การจับกุมอย่างเหวี่ยงแหของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำให้มีผู้คนจากหลายที่หลายกลุ่มมารวมกันอยู่ใน "คุกลาดยาว"

ข้อความต่อไปนี้จะแสดงให้เห็นว่า ระหว่างที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในคุกลาดยาวนั้น รอบตัวเขาเต็มไปด้วยสมาชิกระดับสูงของ พคท.

กลุ่มแรก เป็นสมาชิกองค์กรจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อาทิเช่น เปลื้อง วรรณศรี, อุดม สีสุวรรณ, หนก บุญโยดม และคนอื่นๆ


กลุ่มที่สอง นักการเมืองแนวสังคมนิยม อย่างเทพ โชตินุชิต, พรชัย แสงชัจจ์, เจริญ สืบแสง ฯลฯ


กลุ่มที่สาม เป็นพวกนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังที่ติดร่างแหเข้ามาด้วยเช่น อุทธรณ์ พลกุล, อิศรา อมันตกุล, สนิท เอกชัย, เชลง กัทลีระดะพันธ์ ฯลฯ


กลุ่มที่สี่ นักศึกษาปัญญาชน ที่มาจากรั้วจุฬาฯ ก็มี จิตร ภูมิศักดิ์, ประวุฒิ ศรีมันตะ และสุธี คุปตารักษ์ จากรั้วเกษตรฯ ได้แก่ นิพนธ์ ชัยชาญ และบุญลาภ เมธางกูร นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาหนุ่มไฟแรงอีกหลายคน


กลุ่มที่ห้า เป็นชาวนาจากบ้านนอก และชาวเขาจากดงดอยภาคเหนือ พวกนี้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร ผิดกับชาวนาอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในสายจัดตั้งของ พคท.


กลุ่มนักศึกษารวมตัวกันในนาม "กลุ่มหนุ่ม" หรือ "กลุ่มเยาวชน" โดยมีจิตรเป็นแกนหลักคนหนึ่งของกลุ่ม จริงๆ แล้ว คนในกลุ่มหนุ่มมีทั้งที่เป็นสมาชิกพรรคฯ และเพิ่งก้าวเข้ามาสู่องค์กรจัดตั้ง อย่างนักศึกษาจากเกษตรฯ ส่วนหนึ่งกลายเป็นสมาชิกสันนิบาตเยาวชนของพรรคฯ มาก่อนเข้าคุก


อดีตกรรมการจังหวัด (พคท.) ตากผู้หนึ่งซึ่งเคยร่วมกับกลุ่มหนุ่มสมัยนั้นเล่าว่า แม้แต่องค์กรจัดตั้งของพรรคฯ ในลาดยาว ยังตื่นตระหนกต่อบทบาท "ผู้นำ" กลุ่มเยาวชนของจิตร ถึงขนาดกลุ่มคนแก่ของพรรคฯ และกรรมการกลางพรรคฯ บางคนต้องคอยปรามจิตรด้วยการแสดงทัศนะตอบโต้ผ่านมาทางนักศึกษาปัญญาชนของพรรคฯ คนหนึ่ง กล่าวหาว่า จิตรกับพวกเป็น "หนุ่มเลือดร้อน" หรือ "ซ้ายไร้เดียงสา"


อดีตกรรมการจังหวัดคนเดิม (ผู้มีฉายาว่า "คอมมิวนิสต์กำแพง") ขยายภาพความขัดแย้งให้ชัดขึ้นอีกว่า องค์กรพรรคฯ ในลาดยาวแบ่งเป็นสองปีก ปีกขวาประกอบด้วยกรรมการกลางพรรคฯ กับสมาชิกพรรคฯ ภาคใต้ ปีกซ้ายมีสมาชิกพรรคฯ ภาคอีสานร่วมมือกับกลุ่มหนุ่ม การต่อสู้ของสองปีกดำเนินไปเป็นระยะๆ บางคราวเป็นเอกภาพ และบางคราวก็ขัดแย้ง ธง แจมศรี – กรรมการกลางพรรคฯ คนหนึ่งซึ่งอยู่ในคุกลาดยาวคอยทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งแล้วครั้งเล่า


ในปีกซ้ายมีสมาชิกพรรคฯ อาวุโสจากศรีสะเกษเป็นหัวหอก ปีกนี้โจมตีฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นพวกฝันกลางวัน หรือนักประนีประนอม พูดตามภาษาซ้ายทางการก็คือ "พวกฉวยโอกาสเอียงขวา" หรือ "ลัทธิยอมจำนน" สมาชิกบางคนในปีกนี้ถึงขั้นตั้งข้อสงสัยกรรมการกลางพรรคฯ คนหนึ่งว่าเป็น "สายสันติบาล"


ด้านปีกขวาก็งัดตำราออกมาตอบโต้ปีกซ้ายอย่างหนักหน่วงเช่นกัน ข้อหาที่ตั้งให้อีกฝ่ายก็ฉกาจฉกรรจ์ไม่แพ้กับที่ปีกซ้ายตั้งให้ฝ่ายตน ฝ่ายนี้ถือว่าปีกซ้ายเป็น "พวกฉวยโอกาสเอียงซ้าย" หรือ "พวกลัทธิสุ่มเสี่ยง"


แต่ที่ทั้งสองปีกร่วมมือกันเป็นเอกภาพก็คือ การวิพากษ์ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ด้วยเห็นว่า "อาจารย์เสริฐ" เดินแนวทางสันติ หรือลัทธิแก้ ขณะเดียวกันก็ดึง สังข์ พัธโนทัย เข้ามาเป็นแนวร่วม

ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับการ "เป็นอยู่" และ "ตาย" อย่าง "คอมมิวนิสต์" ของ จิตร ภูมิศักดิ์ นั้น สามารถหาอ่านได้ในหนังสือ วาระสุดท้ายแห่งชีวิตจิตร ภูมิศักดิ์ ของ แคน สาริกา ซึ่งกล่าวไว้อย่างละเอียด

จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นคอมมิวนิสต์ เขาวิเคราะห์ว่าสังคมไทยเป็น "กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา" เขาต่อต้านทั้ง "จักรวรรดินิยมและศักดินา" เช่นเดียวกับ พคท. และเขาก็ตายในฐานะคอมมิวนิสต์


(แนวความคิดที่แตกต่างออกไปจากผู้ปกครองลักษณะนี้ แท้จริงมีมานานแล้วตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ ๖ และบ่มเพาะความคิดมาถึงการรวมตัวกันเป์นคณะราษฎร จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕)

2. จิตร ภูมิศักดิ์ หลัง 14 ตุลา: "ศิลปินนักรบของประชาชน", "นักรบของคนรุ่นใหม่", "นักปฏิวัติผู้ไม่ตาย", "อัจฉริยะของประชาชน" และอื่นๆ

หลังกรณี 14 ตุลา กระแสความคิดสังคมนิยมของ พคท. ได้เติบโตขึ้นและแผ่ขยายเข้ามามีอิทธิพลในหมู่นักศึกษาและปัญญาชนอย่างกว้างขวาง จนในท้ายที่สุดก็ก้าวขึ้นมามีชัยชนะเหนือกระแสความคิดอื่นๆ

ในช่วงระหว่างปี  2516 – 2519   ความเป็น "คอมมิวนิสต์" ของ จิตร ภูมิศักดิ์ หาได้เป็น "ผลลัพธ์" ที่เกิดจากการเติบโตเฟื่องฟูของกระแสสังคมนิยมแบบ พคท. ไม่ หากแต่เป็น "ปัจจัย" สำคัญที่ทำให้กระแส พคท. เติบโตขึ้นด้วยซ้ำ ในการประชุมทางวิชาการ 72 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2545 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่า

จิตรเป็นคนแรกที่นำเอาไอเดียเรื่องการรับใช้ประชาชนที่ว่าศิลปะทุกอย่างจะต้องแยกกันอย่างชัดเจน แม้กระทั่งรูปแบบก็ไม่เป็นรูปแบบที่ไม่เป็นแบบศักดินา เอาเข้าจริงๆ เหตุผลที่นักศึกษาหลัง 14 ตุลา ชอบจิตรมากๆ มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ในความเห็นผม ถ้าถามว่าใครควรรับผิดชอบมากที่สุดต่อความเป็นซ้ายจัดแบบวรรณกรรมของนักศึกษาในช่วง 14 – 6 คือจิตรนี่แหละ

ข้อเสนอนี้ไม่ผิดไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลานั้น เพราะในเวลานั้น ผลงานของจิตรถูกนำกลับมาพิมพ์ซ้ำหลายครั้งโดยกลุ่มนักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้ายหลากหลายกลุ่ม เช่น

"ชมรมหนังสือแสงตะวัน" ตีพิมพ์ บทวิเคราะห์วรรณกรรมยุคศักดินา (ในปี 2517), กวีการเมือง (2517), โฉมหน้าศักดินาไทย (ในปี 2517),ทีปกร ศิลปินนักรบของประชาชน (2517) ด้วยเลือดและชีวิต เรื่องสั้นที่สรรแล้วของสงครามต่อต้านเวียดนาม (ในปี 2519), ความเรียงว่าด้วยศาสนา (ในปี 2519),

"แนวร่วมนักศึกษาเชียงใหม่" ตีพิมพ์ รวมบทกวีและงานวิจารณ์ศิลปวรรณคดีของกวีการเมือง (ในปี 2517),

"กลุ่มวรรณกรรมธรรมศาสตร์" ตีพิมพ์ รวมบทกวีที่สรรแล้วโดย "กวีประชาชน" (ในปี 2517),

กมล กมลตระกูล ตีพิมพ์ ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน (ในปี 2517),

"ฝ่ายศิลป-วัฒนธรรม ส.จ.ม. (สโมสรนิสิตนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)" ตีพิมพ์ บทวิพากษ์ว่าด้วยศิลปวัฒนธรรมของ "จิตร ภูมิศักดิ์" (ในปี 2517)

"สภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง" ตีพิมพ์ นิราศหนองคายวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา (ในปี 2518)

ในปี 2517 หนังสือบางเล่ม เช่น โฉมหน้าศักดินาไทย ถูกจัดพิมพ์ร่วมกันโดยกลุ่มอิสระหลายกลุ่ม ได้แก่ สภาหน้าโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สภากาแฟ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, แนวร่วมนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และชมรมคนรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น

เห็นได้ชัดว่า ชื่อเสียงของจิตรในช่วงหลัง 14 ตุลานั้น เป็นที่รับรู้กันโดยทั่ว ในบทนำของหนังสือ บทวิพากษ์ว่าด้วยศิลปวัฒนธรรมของ "จิตร ภูมิศักดิ์" ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2517 สถาพร ศรีสัจจัง นักศึกษาฝ่ายซ้ายในสมัยนั้นบรรยายว่า

ในช่วงแห่งการต่อสู้ที่ทวีความเข้มข้นขึ้น งานของจิตร ภูมิศักดิ์ ก็ถูกพิมพ์เผยแพร่ใหม่ และขจายออกไปอย่างกว้างขวาง มีการพูดถึงท่านกันอย่างมากมาย เด็กหนุ่มสาวรุ่นใหม่ได้นำเรื่องราวของท่านมาแต่งเป็นเพลงขับร้องเชิงเป็นตำนานนักสู้ประชาชนผู้ยิ่งใหญ่ แม้แต่บรรดานักวิชาการเสรีนิยมทั้งหลายก็ต้องหันมาสนใจถึงกับมีการจัดสัมมนากันขึ้นถึงเรื่องราวของท่าน

ในเดือนกันยายนปี 2517 มีการจัดสัมมนาเรื่อง "แนวความคิดของจิตร ภูมิศักดิ์" โดย สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย

ในเดือนมิถุนายน 2517 ชลธิรา กลัดอยู่ ในฐานะบรรณาธิการ อักษรศาสตร์พิจารณ์ ได้อุทิศเนื้อที่ของวารสารเกือบทั้งหมดให้กับเรื่องราวของ "ศิลปินของประชาชน?"

สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับเดือนกันยายน 2517 นำเอาบทกวี "เปิบข้าว" ของจิตรมาไว้ที่ปกหน้าและเอาภาพถ่ายของจิตรมาแสดงในหน้าถัดไปและตีพิมพ์บทความ "โฉมหน้าศักดินาไทยในสายตาของ จิตร ภูมิศักดิ์" ของ ธรรมเกียรติ กันอริ

ในเดือนตุลาคม 2517 มีการตีพิมพ์หนังสือ จิตร ภูมิศักดิ์ นักรบของคนรุ่นใหม่ โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี

ในเดือนธันวาคม 2517 มีการแสดงละครเรื่อง "จิตร ภูมิศักดิ์" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนำ "บทละคร" ดังกล่าวมาตีพิมพ์ใน อักษรศาสตร์พิจารณ์ ฉบับเดือนเมษายน 2518 เป็นต้น

นี่ยังไม่นับรวมไปถึงบทแนะนำหนังสือเล่มต่างๆ ของจิตรที่ปรากฏอยู่ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์, อักษรศาสตร์พิจารณ์ และ ประชาชาติ อีกหลายชิ้น

ใน The Communist Movement in Thailand ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่า พคท. มีบทบาทสำคัญในการทำให้ จิตร ภูมิศักดิ์ มีชื่อเสียงขึ้นอีกครั้งในช่วงหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 ทั้งนี้เพราะมาโนช    เมธางกูร หรือ "ลุงประโยชน์" สมาชิกระดับสูงของพรรคในเมืองคือผู้ที่เชื่อมโยงจิตรกับพรรคและเป็นผู้ที่ "รับผิดชอบ" จิตร ภูมิศักดิ์ ที่แท้จริง

"ลุงประโยชน์" เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการนำจิตรเข้าสู่ความสนใจของขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา โดยเริ่มจากการทำให้ เช กูวารา กลายเป็น "นายแพทย์นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่" และจากนั้นก็ทำให้ จิตร ภูมิศักดิ์ กลายเป็น "ศิลปินนักรบของประชาชน"

แม้แต่ เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ หรือ "ยุค ศรีอาริยะ" ก็ยังยอมรับว่า ในช่วงระหว่างปี             2516 – 2519       เป็นช่วงที่ พคท. เริ่มแผ่ขยายอิทธิพลทางอุดมการณ์เข้าสู่ขบวนการนักศึกษาผ่านเข้ามาในหลายรูปแบบทั้งที่เป็นเอกสาร, ความคิด, จิตร ภูมิศักดิ์ และ เช กูวารา

ขณะที่ "ชมรมหนังสือแสงตะวัน" ก็คือสำนักพิมพ์ของพรรคในเมือง โดย นิสิต จิรโสภณ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสำนักพิมพ์ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ "ลุงประโยชน์"

ในช่วงปี 2517 – 2518 "ชมรมหนังสือแสงตะวัน" ได้จัดพิมพ์ผลงานสำคัญของจิตร 3 ชิ้น คือ โฉมหน้าศักดินาไทย, กวีการเมือง และ ทีปกร: ศิลปินนักรบของประชาชน

และไม่นานก่อนที่เขาจะเสียชีวิต นิสิต จิรโสภณ ได้โฆษณาอย่างเปิดเผยไว้ว่า มีโครงการจะตีพิมพ์ สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง จำนวน 8 เล่ม

3. จิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานที่มั่นปฏิวัติภายใต้การนำของ พคท.: "วีรชนปฏิวัติ"

กรณี 6 ตุลา ทำให้นักศึกษาและปัญญาชนจำนวนมากหันไปเข้าร่วมและสนับสนุนการต่อสู้ด้วยอาวุธกับ พคท. ในเขตป่าเขา และทำให้ พคท. ขยายเติบโตพุ่งขึ้นสู่กระแสสูงอย่างรวดเร็ว

ในช่วงที่กระแสการปฏิวัติภายใต้การนำของ พคท. ขึ้นสู่กระแสสูงสุดภายหลังกรณี 6 ตุลานี้ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้รับการยกย่องเชิดชูจากนักศึกษาและปัญญาชนในฐานะ "วีรชนปฏิวัติ" หรือไม่ก็ "ปัญญาชนปฏิวัติ" ซึ่งสามารถเห็นได้ใน "สิ่งพิมพ์ใต้ดิน" ของนักศึกษาที่ถูกจัดทำขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งในป่าและในเมือง ตัวอย่างเช่น

นิตยสาร หลักชัย ฉบับเดือนพฤษภาคม 2523 ตีพิมพ์บทความของ ศรีสุวรรณ ชื่อ "บทรำลึกวีรชนปฏิวัติ"

วารสาร พลัง ฉบับเดือนพฤษภาคม 2521 ตีพิมพ์บทความชื่อ "ศึกษาและสืบทอดแบบอย่างจากวีรชนปฏิวัติ จิตร ภูมิศักดิ์"

วารสาร ส่องทาง ฉบับเดือนมีนาคม 2523 ตีพิมพ์บทความของ สิริอุษา พลจันทร์ (ชลธิรา สัตยาวัฒนา) เรื่อง "ศึกษาแบบอย่างคุณแม่สหายจิตร ภูมิศักดิ์ รักลูก รักพรรคยืนหยัดสืบทอดภารกิจปฏิวัติ"

จุลสาร เปลวเทียน ฉบับเดือนพฤษภาคม 2523 ตีพิมพ์บทความชื่อ “จิตรยังไม่ตาย”,

จุลสาร ชโยตุลาคม ฉบับเดือนมีนาคม 2523 ตีพิมพ์บทความของ เมือง บ่อยาง ชื่อ "ความรัก ๓ แบบของจิตร ภูมิศักดิ์"

จุลสาร ชโยตุลาชัย ฉบับเดือนพฤษภาคม 2523 ตีพิมพ์บทความชื่อ "ฉลองวันกรรมกรกับจิตร ภูมิศักดิ์"

ยังไม่นับรวมเอกสาร "จริยธรรมปฏิวัติ" ของพรรคที่ชื่อ "ระลึกถึง จิตร ภูมิศักดิ์ นักรบประชาชนที่ยิ่งใหญ่"

ในข้อเขียนชื่อ "ศึกษาและสืบทอดแบบอย่างจากวีรชนปฏิวัติ จิตร ภูมิศักดิ์" ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร พลัง ฉบับเดือนพฤษภาคม 2521 ผู้เขียนกล่าวว่า

จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นแบบอย่างของปัญญาชนปฏิวัติที่ดีเลิศ ด้วยความสามารถอย่างเอกอุเช่นนี้ เขาสามารถดำรงชีพอยู่ในต่างประเทศได้อย่างสุขสบาย แต่เพราะกลิ่นคาวเลือดคลุ้งอยู่จนไม่อาจทนดูด้วยความเย็นชาได้ จิตร ภูมิศักดิ์ ธงของกองทัพวัฒนธรรม จึงตัดสินใจเดินทางเข้าป่า...

คุณธรรมและความสามารถที่สมบูรณ์พร้อมด้านของ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ส่งอิทธิพลใหญ่หลวงต่อนักเรียน นิสิต นักศึกษา และปัญญาชนชาวไทยทั่วไป เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม แสดงให้เห็นว่า นักเรียน นิสิต นักศึกษา และปัญญาชน ผู้ก้าวหน้ารักความเป็นธรรมไม่เพียงแต่ร้องเพลงที่ จิตร ภูมิศักดิ์ แต่ง หากแต่ได้ยืนหยัดสืบทอดแบบอย่างที่น่าคารวะตามที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ชี้นำไว้ในเพลง "วีรชนปฏิวัติ"

ขณะที่ข้อเขียน "บทรำลึกวีรชนปฏิวัติ" ใน นิตยสาร หลักชัย ฉบับเดือนพฤษภาคม 2523 กล่าวถึง จิตร ภูมิศักดิ์ อย่างยกย่องชื่นชมว่า

เรื่องราวของเขา ดุจจะเป็นตำนานการต่อสู้อันอมตะที่จะสืบขานเล่าไปไม่รู้จบเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชนรุ่นหลังได้ศึกษาจิตใจของปัญญาชนปฏิวัติคนหนึ่งที่อุทิศร่างกายและจิตใจเพื่อสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม เพื่อชนชั้นที่ถูกกดขี่ในสังคมด้วยจุดยืนที่หนักแน่นไม่คลอนแคลน ไม่ว่าผลนั้นจะทำให้เขาทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส และถูกจองล้างทำลายจากศัตรูของประชาชน แม้กระทั่งหลั่งเลือดจนหยดสุดท้ายเพื่ออุดมการณ์อันสูงส่ง       (อ่านต่อ....คลิก)



********************************

เมื่อมีการกดขี่ก็ย่อมมีการต่อต้าน หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการต่อสู้ของประชาชนนำโดยขบวนการนิสิตนักศึกษา ติดตามอ่านได้ที่  14 ตุลา 2516   และที่ 6 ตุลา 2519    

เวลาหมุนผ่านไปไม่นานนัก สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป คนเปลี่ยนไป สุดท้าย สุจิตต์  วงษ์เทศ สรุปไว้น่าสนใจดังนี้

ประพันธ์โดย คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ

กูเป็นนิสิตนักศึกษา
วาสนาสูงส่งสโมสร
ย่ำค่ำนี่จะย่ำไปงานบอลล์
เสพเสน่ห์เกสรสุมาลี

กูเป็นนิสิตนักศึกษา
พริ้งสง่างามผงาดเพียงราชสีห์
มันสมองของสยามธานี
ค่ำนี้กูจะนาบให้หนำใจ

กูเป็นนิสิตนักศึกษา
เจ้าขี้ข้ารู้จักกูหรือไหม
หัวเข็มขัด กลัดกระดุม ปุ่มเน็คไทร์
หลีกไปหลีกไปอย่ากีดทาง

กูเป็นนิสิตนักศึกษา
มหาวิทยาลัยอันกว้างขวาง
ศึกษาสรรพรสมิเว้นวาง
เมืองกว้างช้างหลายสบายดี

กูเป็นนิสิตนักศึกษา
เดินเหินดูสง่ามีราศี
ย่ำค่ำกูจะย่ำทั้งราตรี
กรุงศรีอยุธยามาราธอน

เฮ้ย กูเป็นนิสิตนักศึกษา
มีสติปัญญาเยี่ยมสิงขร
ให้พระอินทร์เอาพระขรรค์มาบั่นรอน
อเมริกามาสอนกูเชี่ยวชาญ

กูเป็นนิสิตนักศึกษา
หรูหราแหลมหลักอัครฐาน
พรุ่งนี้ก็ต้องไปร่วมงาน
สังสรรค์ในระดับปริญญา

ได้โปรดฟังกูเถิดสักนิด
กูเป็นนิสิตนักศึกษา
เงียบโว้ย-ฟังกู--ปรัชญา
กูอยู่มหาวิทยาลัย...

...กูอยู่มหาวิทยาลัย
รู้ไหม เห็นไหม ดีไหม
อีกไม่นานเราก็ต่างจะตายไป
กอบโกยใส่ตัวเองเสียก่อนเอย.

กูเป็นนิสิตนักศึกษา. สนพ.ประพันธ์สาส์น พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2529.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น